รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้เชิญหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการที่มีสถานศึกษาในสังกัด รวมทั้งหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านยาเสพติดมาร่วมหารือและประสานงานร่วมกัน จากการหารือร่วมกันครั้งนี้ก็มีความเห็นตรงกันว่า ควรมีการแบ่งกลุ่มสถานศึกษาใหม่ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมเป็นการแบ่งกลุ่มตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเสพ และกลุ่มค้า แต่กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่ากลุ่มในลักษณะนี้จะนำมาใช้กับสถานศึกษาไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงบางโรงเรียนไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เช่น โรงเรียนประถมศึกษา นอกจากจะเป็นการสร้างความตกใจให้กับผู้ปกครองแล้ว การจัดกลุ่มแบบเดิมยังไม่สะท้อนผลลัพธ์การดำเนินงาน เพราะกิจกรรมที่จัดให้กับเด็กแต่ละกลุ่มมีรูปแบบเดียวกัน
ดังนั้น จึงจัดให้มีการแบ่งกลุ่มสถานศึกษาใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1) กลุ่มสถานศึกษาที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งหมายถึงโรงเรียนระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งมีเด็กนักเรียนเล็กๆ ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะ กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก และขณะนี้ก็ดำเนินการอยู่แล้ว
2) กลุ่มสถานศึกษาที่ต้องเฝ้าระวังป้องกัน ได้แก่ สถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา ที่จะต้องมีรูปแบบกิจกรรมต่างจากกลุ่มแรก และสอดคล้องกับการเปิดรับในช่วงวัยนี้ด้วย ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส.จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยง เช่น ชุมชนเมืองที่มีการระบาดของยาเสพติด เพื่อจัดลำดับความเร่งด่วนของปัญหา ทำให้สามารถดำเนินการได้ตรงจุดและใช้งบประมาณได้ถูกที่ถูกทาง
3) กลุ่มสถานศึกษาที่ต้องบำบัด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความยากในการดำเนินการมากที่สุด โดยกระทรวงสาธารณสุขในฐานะเจ้าภาพ จะหารือร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดระบบการบำบัดใหม่ ให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้และสามารถกลับเข้ามาอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไป นักเรียน หรือนักศึกษา
ดังนั้น การแบ่งกลุ่มสถานศึกษาใหม่จะทำให้เกิดกิจกรรม มาตรการ และรูปแบบการสื่อสารแตกต่างกันไปตามธรรมชาติของเด็กแต่ละกลุ่ม และเชื่อว่าจะไม่ทำให้เด็กเกิดการต่อต้าน เช่น เด็กประถมศึกษาต้องสอนด้วยนิทาน เด็กมัธยมศึกษาตอนปลายอาจจะต้องใช้แอปพลิเคชันเข้ามาช่วย เป็นต้น รวมถึงจะช่วยแก้ไขการใช้งบประมาณแบบหารยาวด้วย ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณในทุกเรื่องรวมถึงเรื่องนี้ด้วย ที่จะต้องใช้งบประมาณอย่างมีเหตุมีผล ตอบโจทย์ปัญหา และมีผลลัพธ์ที่ชัดเจน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากการจัดกลุ่มใหม่เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการภาพรวมในการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติด ทุกหน่วยงานจึงต้องกลับไปทำการบ้านใหม่ รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องจัดทำข้อมูลคัดแยกกลุ่มสถานศึกษา ตลอดจนแผนงานและกิจกรรมต่างๆ ทั้งสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนส่งตัวเลขกลับไปให้ ป.ป.ส. เพื่อนำเข้าสู่ระบบ เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถจัดทำแผนการดำเนินงานตามความรับผิดชอบต่อไป
โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากจะจัดกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาให้นักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษาแล้ว ได้มอบโจทย์ให้จัดกิจกรรมเชื่อมโยงไปถึงครอบครัวและชุมชนของเด็กด้วย
ภาพถ่าย : อรพรรณ ฤทธิ์นิ่ม
สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมประชุม คือ นายแพทย์กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นางผานิตย์ มีสุนทร รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายขจร จิตสุขุมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, นายบุญส่ง จำปาโพธิ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายพีรศักดิ์ รัตนะ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน, นายชัยชาญ ช่วงโพธิ์กลาง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายธีร์ ภวังคนันท์ หัวหน้าศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.), กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงยุติธรรม, กรุงเทพมหานคร, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
11/11/2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th