นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากร ได้ให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวกทางการค้าควบคู่กับการควบคุมทางศุลกากร และในฐานเป็นหน่วยงานหลักในศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และเป็นหนึ่งในหกหน่วยงานหลักของศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล) ในการดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาล เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) และเพื่อเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไม่ให้มีการทำงานซ้ำซ้อน และมีการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ กรมศุลกากร จึงได้กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้
1. แต่งตั้งคณะทำงานปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม พิธีการศุลกากรเฉพาะเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated: IUU Fishing) โดยมีอธิบดีกรมศุลกากรเป็นที่ปรึกษาคณะทำงานฯ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
2. จัดทำข้อตกลงระหว่างกรมศุลกากรและกรมประมง เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไม่ให้มีการทำงานซ้ำซ้อน และมีการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การตรวจสอบเรือก่อนเข้ามาในราชอาณาจักรจนเรือ มาเทียบท่า การควบคุมการขนถ่าย ณ ท่าเทียบเรือ การควบคุมการขนส่งไปยังสถานประกอบการ/โรงงาน การตรวจสอบกระบวนการผลิตเพื่อตรวจสอบย้อนกลับ การประสานงานและการ แลกเปลี่ยนข้อมูล การเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดถึงการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด
3. จัดทำคำสั่งพิธีการเฉพาะเรื่อง ว่าด้วยพิธีการศุลกากรในการควบคุมสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากการกระทำประมงผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการประกาศยกเลิก Green Line สำหรับสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์นำเข้าในกลุ่มประเภทพิกัด 0302 0303 0304 และ 1604
4. ปรับปรุงระบบการจัดเก็บสถิติการนำเข้า – ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ของกรมศุลกากรให้มีความครบถ้วนถูกต้อง และสอดคล้องกับการจัดเก็บสถิติของกรมประมงเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ให้มีประสิทธิผล โดยการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์กับกรมประมงผ่านทางระบบ National Single Window ผ่านแอพพลิเคชั่นที่สามารถดำเนินการทางสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตทำให้ตรวจสอบข้อมูลได้ทันเหตุการณ์
5. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการตีความพิกัดอัตราศุลกากรในส่วนสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ระหว่างกรมศุลกากรและกรมประมงให้ถูกต้องตรงกัน รวมถึงผู้ประกอบการนำเข้า – ส่งออก และนำผ่าน ผู้ประกอบการที่ได้รับสถานะ AEO ให้มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการสำแดงพิกัดสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้อง
6. เพิ่มความเข้มงวดในการทบทวนหลังการตรวจปล่อย ณ ที่ทำการศุลกากร (Post Review) และการตรวจสอบหลังการตรวจปล่อย (Post Audit) ณ สถานประกอบการ คลังสินค้าทัณฑ์บน เขตปลอดอากร และเขตประกอบการเสรี
7. จัดทำคู่มือสำหรับผู้ปฏิบัติ เสริมสร้างความรู้และความเข้าใจ ให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง
8. จัดตั้งศูนย์ต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายฯ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับ IUU Fishing รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจปล่อยสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์
อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากร และกรมประมง จะมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่และกำหนดมาตรการต่างๆ สนับสนุนและบูรณาการร่วมแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU FISHING) ในฐานะของหน่วยงานราชการในศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักของศูนย์ประสานงานการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ต่อไป เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นสำคัญ
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th