1. มาตรการด้านการสกัดกั้นเชิงพื้นที่ ได้ใช้กลไกในพื้นที่ตรวจตราเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงชายแดน เส้นทางลำเลียงเข้าออกทุกแห่ง โดยมีพนักงานฝ่ายปกครอง ร่วมกับ ตำรวจ ทหาร บูรณาการการทำงานร่วมกันในการตั้งจุดตรวจจุดสกัดในพื้นที่เสี่ยง สามารถสกัดกั้นและจับกุมคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายได้ จำนวน 8,941 คน และจับกุมผู้นำพา หรือผู้ให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวได้ จำนวน 101 คน(ผลการดำเนินงานตั้งแต่ตุลาคม2557 – กันยายน 2558)
2. มาตรการด้านการป้องกัน เน้นการลดปัจจัยเสี่ยงในการค้ามนุษย์ โดยปรับปรุงระบบการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และจัดทำทะเบียนประวัติ พร้อมออกบัตรประจำตัวการอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม โดยได้เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ในปี พ.ศ. 2557 จำนวน 1,626,235 คน และในปี 2558 ได้เปิดต่ออายุบัตรที่จดทะเบียนไว้แล้วเพื่อผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวอีก 1ปี และรอการพิสูจน์สัญชาติจำนวน 1,049,326 คน ซึ่งบัตรจะหมดอายุในวันที่ 31 มีนาคม 2559 และจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวใหม่ เฉพาะแรงงานประมง ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 29 มิถุนายน 2558 อีกจำนวน 54,402 ราย รวมทั้งได้ดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาสัญชาติและการดูแลชนกลุ่มน้อย โดยให้สัญชาติไทยที่ถูกต้องแก่ชาวเขา ชนกลุ่มน้อย และคนไร้สัญชาติ ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานตามคุณสมบัติของกฎหมาย จำนวน 10,551 คน นับเป็นครั้งสำคัญที่ชนกลุ่มน้อยได้รับการดูแลเอาใจใส่จากรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงในปัญหาการค้ามนุษย์ อีกทางหนึ่งด้วย
3. มาตรการด้านการปราบปราม เน้นย้ำการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อขบวนการค้ามนุษย์และผู้กระทำผิดและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้จัดชุดปฏิบัติการพิเศษกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ออกปฏิบัติงานร่วมกับจังหวัด อำเภอ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานในพื้นที่ในการสืบสวนจับกุมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีผลงานที่สามารถจับกุมขบวนการค้ามนุษย์ในรูปแบบการค้าประเวณีเด็กที่อายุต่ำกว่า18 ปี หรือการบังคับค้าประเวณีได้ 11 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ 23 คน ช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้ 28 คน และดำเนินคดีความผิดฐานค้ามนุษย์อื่นๆ อีก 12 คดี และได้ใช้มาตรการทางปกครองในการสั่งปิดสถานบริการ ร้านคาราโอเกะทุกแห่งที่มีการกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่จังหวัด ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ควบคู่กับการดำเนินคดีอาญาอย่างเด็ดขาดกับผู้กระทำผิด นอกจากนี้ พนักงานฝ่ายปกครองยังได้ดำเนินการจับกุมขบวนการนำพาชาวโรฮิงจาหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายในท้องที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา สามารถช่วยเหลือชาวโรฮิงจา ที่เป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ได้จำนวน 53 คน ตลอดจนได้ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อย่างรวดเร็ว เป็นธรรมตามมาตรฐานสากล และมนุษยธรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น ได้อนุญาตให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อเข้าสู่การคุ้มครองช่วยเหลือ จำนวน 229 คน ขณะเดียวกันก็ได้ดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการรับแจ้งข้อมูลข่าวสาร รับแจ้งเบาะแสการค้ามนุษย์ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เป็นผู้บูรณาการประสานการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกับตำรวจ ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
ในส่วนของภารกิจการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 22จังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเลและจังหวัดพัทลุง เข้าร่วมบูรณาการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) อย่างเต็มกำลังในทุกๆ ด้านตามที่ได้รับร้องขอ รวมทั้งได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยส่วนกลางเข้าร่วมปฏิบัติงานกับ ศปมผ. และส่งเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองทั้ง 22 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเลเข้าร่วมปฏิบัติงานประจำศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก (ศูนย์ PIPO) จำนวน 28 ศูนย์ๆ ละ 2 นาย
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยยังได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องหนี้สินของผู้ประกอบการประมงที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถออกทำการประมงได้ โดยให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอทำหน้าที่รับแจ้งข้อมูลหนี้สินทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ โดยสรุปข้อมูล ณ วันที่ 11 กันยายน 2558 มีผู้ประกอบการประมงได้รับผลกระทบ จำนวน 7,937ราย จากพื้นที่ 89 อำเภอ หรือ 259 ตำบล ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ส่งรายละเอียดข้อมูลดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไปแล้ว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2559 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์การรักษาความสงบเรียบร้อยและอำนวยความเป็นธรรมให้สังคมสงบสุข ซึ่งได้กำชับในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในระยะต่อไปที่จะต้องเพิ่มความเข้มข้นในทุกๆมาตรการ โดยเฉพาะการทำงานในระดับพื้นที่ที่เน้นการลงพื้นที่ตรวจสอบ สถานประกอบการ จุดเสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เช่น สถานบริการ โรงแรม โรงงาน ท่าเรือประมง และได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้นำท้องที่ และ ผู้นำท้องถิ่น ติดตามข้อมูลข่าวสารและตรวจสอบในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมาย โดยยึดถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเข้มข้น เพื่อให้ปัญหาการค้ามนุษย์หมดไปจากสังคมไทย.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th