นายอดุลย์ กาญจนวัฒน์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนให้เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.รวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ทั้ง 77 จังหวัด เพื่อเป็นองค์กรของเกษตรกรลูกค้าในการสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง คือ 1.รวบรวมผลผลิตการเกษตรจากสมาชิกไปจำหน่าย แปรรูป และสร้างมูลค่าเพิ่ม 2.จัดหาปัจจัยการผลิตให้แก่สมาชิก 3.เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการเกษตรให้แก่เกษตรกรลูกค้า
ปัจจุบันทั้ง สกต. 77 แห่ง ให้บริการแก่สมาชิกที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. จำนวน 3.85 ล้านคน มีจำนวนหุ้น 2,600 ล้านบาท ผลการดำเนินงานปี 2557 สกต. มียอดธุรกิจรวม 20,963 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจจัดหาธุรกิจรวบรวมผลผลิตการเกษตรจากสมาชิก 12,057 ล้านบาท และ ปัจจัยการผลิต 8,906 ล้านบาท
การดำเนินงานของ สกต. ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ แต่จากสภาวการณ์ด้านการผลิตที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตร เศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาวะถดถอยส่งผลถึงประเทศไทยและกระทบต่อภาคเกษตรโดยตรง ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรไว้หลายมาตรการ โดย ธ.ก.ส.เข้าไปมีส่วนรับผิดชอบ เช่น ภัยแล้งขยายเวลาชำระหนี้เดิม เติมสินเชื่อเพื่อปรับปรุงการผลิต ด้านการตลาด มาตรการชะลอการขายข้าวนาปี สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวของสถาบันเกษตรกร การดำเนินโครงการตลาดประชารัฐ การซื้อขายผ่านตลาดออนไลน์ (E – Commerce) ซึ่งขบวนการ สกต.จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อเกษตรลูกค้า ธ.ก.ส. ประกอบกับรัฐบาลให้ความสำคัญต่อระบบสหกรณ์โดยกำหนดแนวทางพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง เป็นกระบวนการหลักในการพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ดังนั้นขบวนการ ส.ก.ต.จะต้องมีความเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืนภายใต้หลักธรรมาภิบาล ธ.ก.ส. จึงได้ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์และคณะกรรมการกลาง สกต. กำหนด “แนวทางการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ขบวนการ สกต.” ซึ่งมีเป้าหมายการพัฒนาตามกลยุทธ์ 3 ด้าน คือ 1. การสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงาน สนับสนุนให้มี “สกต.ต้นแบบ” เป็นตัวอย่างให้ สกต.อื่น ๆ ได้ศึกษาเรียนรู้ 2. ธรรมาภิบาล เสริมสร้างให้ดำเนินงานภายใต้มาตรฐานธรรมาภิบาลของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และ 3.พัฒนาขีดความสามรถในการแข้งขันโดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการด้านการตลาดผลผลิตการเกษตรหลัก 9 ชนิด (ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ กาแฟ และปศุสัตว์) ตลาดออนไลน์ (E–Commerce)
ธ.ก.ส.ร่วมกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้น ดำเนินการเสริมสร้างธรรมาภิบาลให้ขบวนการ สกต.เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินงานที่จะก่อให้เกิดความเชื่อมั่น ศรัทธาจากสมาชิกและผู้ที่มีส่วนได้เสีย โดยมี 3 แผนงานย่อยกล่าวคือ 1.การเสริมสร้างด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจหลักและมาตรฐานด้านธรรมาภิบาลให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง การสร้างแรงจูงใจ 2.การป้องกันด้วยการตรวจสอบกิจการ ระบบการควบคุมภายในและบริหารความเสี่ยง ระเบียบข้อบังคับ และ 3.การแก้ไข เพิ่มเติมบทลงโทษและบังคับใช้อย่างจริงจัง แต่ถึงแม้จะมีมาตรการดีอย่างไรก็อาจจะมีบ้างที่ละเลยจนเป็นเหตุทำให้การบริหารงาน สกต.ขาดประสิทธิภาพ
การดำเนินการครั้งนี้ได้จัดอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาลมาตรฐานและนำสู่การปฏิบัติให้แก่คณะกรรมการและฝ่ายจัดการของ สกต.ทั้ง 77 แห่ง โดยมีนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นผู้ทำพิธีเปิดการอบรม มีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 77 สกต. รวม 1,540 ราย แบ่งเป็น คณะกรรมการ สกต. ๆ ละ 15 ราย จำนวน 77 สกต. รวม 1,155 ราย และฝ่ายจัดการและเจ้าหน้าที่ สกต. ๆ ละ 5 ราย จำนวน 77 สกต. รวม 385 ราย ซึ่งจะส่งผลให้ สกต. มีความเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืนสามารถตอบสนองความต้องการของสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักธรรมาภิบาล ตามแผนงานที่กำหนดไว้ 3 ด้าน คือ แผนงานการสร้างความเข้มแข็ง แผนงานด้านธรรมาภิบาลและแผนงานพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน
สำนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ธ.ก.ส.
โทร 02 558 6100 ต่อ 6733, 6734 และ 6740
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th