ในการนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ร่วมจัดนิทรรศการ ภายในงานงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติในครั้งนี้ด้วย โดยได้เลือกจัดหัวข้อ เรื่อง “ปลูกความคิด สร้างนักวิทย์รุ่นเยาว์” เพื่อมุ่งให้เด็กและเยาวชนตลอดจนผู้เข้าร่วมชมงานได้รับความรู้ และเห็นถึงความสำคัญ สาระเรื่องราวของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกี่ยวกับแสงและสี น้ำ ดิน ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการคงอยู่ของสิ่งมีชีวิตเพื่อการพัฒนาคุณภาพอาหาร น้ำอุปโภค-บริโภค ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่อยู่รายรอบตัวเรา รวมทั้งจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในการที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีความสามารถของประเทศต่อไป
ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่ กรมวิทยาศาสตร์บริการ มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชน ตลอดจนผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ได้เรียนรู้สาระวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการคิด กระตุ้นให้เด็กได้รับรู้ผ่านการทดลอง ได้ลงมือทำด้วยตนเอง อีกทั้งยังมีนักวิทยาศาสตร์ให้คำอธิบายเพิ่มเติมในสาระสำคัญ ที่จะช่วยทำให้เกิดความตระหนักและความรักในวิทยาศาสตร์
การจัดนิทรรศการภายในบูธของกรมวิทยาศาสตร์บริการ แบ่งเป็น 4 โซน ด้วยกัน ประกอบด้วยกิจกรรมมากมาย ดังนี้
1.โซนการทดลอง มุ่งให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ผ่านการได้ทดลองทำด้วยตนเอง เป็นส่วนของการเสริมสร้างการเรียนรู้จากการทดลอง เช่น การหาสเปกตรัมของแสง ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าประเภทหนึ่งโดยให้ทำการทดสอบหาสเปกตรัมด้วยเครื่องมืออย่างง่ายที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง ฯลฯ
2.โซนการสาธิต เป็นเสมือนห้องแลปจำลอง ที่มีนักวิทยาศาสตร์ให้คำตอบ เช่น สาธิตเรื่องแก้ว โดยเปรียบเทียบการแสดงผลการทดสอบในเนื้อแก้วชนิดต่างๆ ด้วยแสงโพลาไรซ์ เป็นการตรวจสอบผลิตภัณฑ์แก้ว หลังจากกระบวนการอบ โดยเนื้อแก้วเมื่อผ่านการขึ้นรูปแล้ว แล้วจะเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของแข็ง จากอุณหภูมิที่ลดลงรวดเร็ว เป็นสาเหตุให้เกิดความเค้นและความเครียดในเนื้อแก้ว จึงจำเป็นต้องเข้าลดอุณหภูมิลงอย่างช้าๆ เพื่อให้เวลาในการจัดเรียงโครงสร้างของแก้วจากของเหลวเป็นของแข็ง การอบแก้วจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ทำให้แก้วมีความแข็งแรงมีความเสถียรไปตลอด อย่างไรก็ตามแก้วยังคงมีความเครียดตกค้างหลงเหลืออยู่ไม่มากก็น้อย ความเครียดตกค้างในเนื้อแก้ว เป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และส่งผลกระทบในกรณีที่นำแก้วที่มีความเครียดสูงไปใช้งานมีโอกาสแตกได้เมื่อได้รับการกระแทกหรือความร้อน ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ฯลฯ
3. โซนห้องฉายภาพยนตร์และเวทีกิจกรรม จะฉายภาพยนตร์หรือการ์ตูนให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กและเยาวชน ความยาวไม่เกิน 10 นาที
4.โซนนิทรรศการภาพประกอบคำบรรยายและตัวอย่างแสดง เช่น แสงกับการมองเห็นสี แสง (Light) เป็นจุดเริ่มต้นของการมองเห็น ถ้าปราศจากแสง ก็จะไม่เห็นภาพ ผลของแสง จะทำให้มนุษย์ รับรู้สี หรืออาจกล่าวได้ว่า แสงเป็นแหล่งกำเนิดของสี ที่นำไปสู่ ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องมากมาย ฯลฯ
วศ. พร้อมแล้วที่จะนำเยาวชน ประชาชนผู้เข้าร่วมงานทุกท่านเปิดโลกทัศน์ หัวข้อ “ปลูกความคิด สร้างนักวิทย์รุ่นเยาว์” พบกับกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี ซึ่งจัดเต็มพื้นที่อาคารชาเลนเจอร์ 2-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 14-25 พฤศจิกายน 2558 เวลา 09.00 – 20.00 น. งานนี้ฟรีตลอดงาน
จิตลดา คณีกุล ผู้เขียนข่าว
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร 0 2201 7097 – 8 Call Center 0 2201 7555
เผยแพร่ข่าว : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
ที่มา: http://www.thaigov.go.th