ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ผลักดันการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม สู่อุตสาหกรรมสร้างมูลค่า โดยมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างมูลค่าที่ตอบสนองต่อกระแสโลกในอนาคต เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งเป็นการต่อยอดกลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นการต่อยอดกลุ่มเกษตรและพลังงาน กลุ่มอุตสาหกรรมด้านวิศวกรรมและการออกแบบ ซึ่งเป็นการต่อยอดกลุ่มยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นการต่อยอดกลุ่มอาหารและเชื่อมโยงกับภาคบริการ และกลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม สร้างมูลค่าจากฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม
“ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้พัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยการต่อยอดเอกลักษณ์หรือภูมิปัญญาของไทยผสมผสานกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีรองรับกลุ่มตลาดระดับบน (High-End) และกลุ่มที่มีความต้องการแบบเฉพาะ (Niche Market) การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสู่มาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยระดับสากล รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างสู่อุตสาหกรรมอนาคต เช่น การจัดตั้งศูนย์ทดสอบกลางเพื่อทดสอบและรองรับผลิตภัณฑ์ยางล้อและชิ้นส่วนยานยนต์ครบวงจร
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีสถาบันเครือข่ายทั้งรายสาขาและสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการปรับปรุงและต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นด้วยการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมและอุตสาหกรรมที่มีปริมาณการปล่อยคาร์บอนต่ำ มีความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือ 1) การกำกับดูแลตามกฎหมายและการตรวจติดตาม เช่น การเร่งรัดการนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบ ด้วยการจัดทำแผนงานด้านการจัดการกากอุตสาหกรรมแบบต่อเนื่อง 5 ปี (2558-2562) มีเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี โรงงานทั้งหมดจะเข้าสู่ระบบการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม 2) การตรวจสอบและเฝ้าระวังผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งดำเนินการโดยการใช้ระบบ Online Monitoring คุณภาพน้ำของกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวัง 3) การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) โดยมีกรอบการพัฒนา 5 มิติ ได้แก่ มิติกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับปัจเจกบุคคล (Eco Factory หรือ Factory Level) ระดับกลุ่มอุตสาหกรรม/นิคมอุตสาหกรรม (Eco Industrial Level) ระดับเมือง (Eco Town Level) และระดับเมืองใหญ่หรือนคร (Eco City) หรือกลุ่มเครือข่ายเมืองใหญ่ ซึ่งในปี 2558 ได้พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา
นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จำนวน 10 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา สระบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี นครปฐม ราชบุรี สงขลา และ สุราษฎร์ธานี และมีการจัดทำศูนย์พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Town Center) เพื่อเป็นศูนย์ประสานและติดตามระดับการพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ” นางอรรชกา กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและสอดคล้องกับบริบทใหม่ของโลกนั้น ย่อมส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยในระยะยาว ซึ่งจะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในสภาพอ่อนแอกลับมาเข้มแข็งขึ้น รวมทั้งสามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) นำไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ในเร็ววัน โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่การร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th