18 พฤศจิกายน 2558 - อิมแพ็ค เมืองทองธานี / มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2558 งานที่รวบรวมสุดยอดผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และธรรมชาติวิทยาทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก หนึ่งในไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้ คือ ผลงานการค้นพบแมลงชนิดใหม่ของโลก โดยนักวิชาการด้านธรรมชาติวิทยาขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ที่ยกตัวจริงมาแสดงให้ได้ชมกันที่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ครั้งนี้
นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ครั้งนี้ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2558 นี้ขึ้นมา ไม่เพียงแต่จะให้เป็นงานที่รวบรวมสุดยอดผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทั้งจากในประเทศและนานาประเทศมาจัดแสดงในงานนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งรวบรวมสุดยอดงานวิจัยด้านธรรมชาติวิทยามาจัดแสดงในครั้งนี้อีกด้วย หนึ่งในนั้นคือ นิทรรศการความหลากหลายสู่ความยั่งยืน (Biodiversity Pavilion) สุดยอดไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้ เป็นการนำเสนอภาพรวมโครงการเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากร ในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “เจ้าฟ้านักอนุรักษ์” อาทิเช่น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช (อพ.สธ.) โครงการ “ผันสู่วิถีใหม่ในฐานไทย” เพื่อเตรียมความพร้อมรับการเข้าสู่ AEC อย่างมีภูมิคุ้มกันที่ดีด้านฐานทรัพยากร และพบกับนิทรรศการสิ่งมีชีวิตพระปรมาภิไธยและพระนาม อาทิ ปูเจ้าพ่อหลวง, ทิวลิปคิงภูมิพล, คัทรียาควีนสิริกิติ์, นกเจ้าฟ้าสิรินธร, ปูเจ้าฟ้า, และปูทูลกระหม่อม เป็นต้น
อีกหนึ่งไฮไลท์ที่ต้องไปดูให้ได้ คือ Showcase “Biodiversity in Thailand” ชมพืชและสัตว์หายากที่พบในประเทศไทย ท่ามกลางบรรยากาศป่าจำลอง การแสดงผลงานการค้นพบวิจัยและตั้งชื่อแมลงชนิดใหม่ของโลกถึง 4 ชนิด โดยนักวิชาการด้านธรรมชาติวิทยาของ อพวช. ที่ยกตัวจริงมาให้ได้ชมกันที่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ 2558 โซนโอนลี่อินไทยแลนด์ (Only in Thailand)
สำหรับแมลงชนิดใหม่ของโลก 4 ชนิดที่กล่าวไปนั้น มีดังนี้ ตัวแรกเป็น จิ้งหรีดต้นไม้สะแกราช หรือในชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Capnogryllacris (Capnogryllacris) sakaerat Dawwrueng, Gorochov et Artchawakom, 2015 พบครั้งแรกที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จึงให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “sakaerat” จิ้งหรีดต้นไม้ชนิดนี้ค้นพบและตั้งชื่อโดย นายภัทรวิชญ์ ดาวเรือง นักวิชาการธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. และนายทักษิณ อาชวาคม ผู้อำนวยการ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช
ตัวที่สอง คือ ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่ หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anasidulia maejophrae Dawwrueng, Storozhenko et Asanok, 2015 เป็นตั๊กแตนสกุลใหม่ของโลก ค้นพบและตั้งชื่อโดยนายภัทรวิชญ์ ดาวเรือง กองวิชาการธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. Dr. S. Yu Storozhenko ผู้เชี่ยวชาญตั๊กแตนจากรัสเซีย และอาจารย์ ดร.แหลมไทย อาษานอก อาจารย์ประจำสาขาวิชาเกษตรป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่เฉลิมพระเกียรติ
ตัวที่สาม คือ มดหนามสาคร หรือมดหนามสอยดาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Recurvidris chanapaithooni Jaitrong et Wiwatwitaya, 2015 ถือเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของไทย ค้นพบและตั้งชื่อโดย ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง หัวหน้ากองวิชาการธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. และ รศ.ดร.วิทยา เดชาวิวัฒน์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ตัวที่สี่ คือ มดต้นไม้สิรินธร หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cladomyrma sirindhornae Jaitrong, Leadprathom et Yamane, 2013 ค้นพบและตั้งชื่อโดย ดร. วียะวัฒน์ ใจตรง หัวหน้ากองวิชาการธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. นายคำรณ เลียดประถม นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ จากกรมป่าไม้ และ Prof. Dr. Seiki Yamane ผู้เชี่ยวชาญมดจาก Kagoshima University ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับพระราชทานชื่อจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นายสาครฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ ในนิทรรศการความหลากหลายสู่ความยั่งยืนผู้เข้าชมยังจะได้ตื่นตาตื่นใจไปกับภาพยนตร์ 3 มิติ (3D Theatre) ที่จะพาเราไปพบกับ “The Big Bang จุดเริ่มต้นของสรรพสิ่ง” การระเบิดครั้งใหญ่ก่อกำเนิดสสารมวลมหาศาลกระจายไปทั่วเอกภพ และโลกก็เป็นหนึ่งในนั้น พร้อมชมระบบนิเวศใต้ดิน บนดิน บนเรือนยอด ต้นไม้ยักษ์ในป่า ในถ้ำมืดมิด ในหนองน้ำ และในทะเล ฯลฯ รวมทั้ง ภาพวิวัฒนาการอันสวยงามของ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ของโลกสีน้ำเงินของเรา พบกับ Alien Species ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์และถูกคุกคามในประเทศไทย
ขอเชิญชวนชาวไทยทุกคนมาร่วมกันเปิดโลกทัศน์ สัมผัสเรียนรู้วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยาอย่างเพลิดเพลินสนุกสนานเหล่านี้ได้ในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2558” ตั้งแต่วันนี้-25 พฤศจิกายน 2558 09.00-20.00 น. ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
สื่อมวลชนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทร 0-2577-9999 ต่อ 1473, 2122, 2123
ติดต่อ กองประชาสัมพันธ์ สำนักพัฒนาธุรกิจและการตลาด องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ คุณพัชร์ชิสา (ปัญญ์) 094-486-5599 / คุณฐาปนี (เก๋ง) 085-772-9955 / คุณสุตานันท์ (กอล์ฟ) 089-499-5531
เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2558
คุณสุวรรณา (นา) 081-565-5540 / คุณพัสรา (ต่าย) 087-497-8183 / ดิศราพร (ปุ๋ย) T.086-985-6832
อีเมล: prnst2015@gmail.com
เผยแพร่ข่าว : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313
ที่มา: http://www.thaigov.go.th