การประชุมร่วมไทย – กัมพูชา (JCR) ครั้งที่ 2 ประสบความสำเร็จด้วยดี มุ่งยกระดับความร่วมมือไทย-กัมพูชา สู่ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพและความมั่นคั่ง (Partnership for Peace and Prosperity)

ข่าวทั่วไป Saturday December 19, 2015 14:16 —สำนักโฆษก

วันนี้ (19 ธ.ค. 2558) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซนนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นประธานการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (JCR) ไทย - กัมพูชา ครั้งที่ 2 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยพลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

คณะรัฐมนตรีไทยที่เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกประจิน จั่นตองรองนายกรัฐมนตรี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และพลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

คณะรัฐมนตรีกัมพูชาที่เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา นายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักคณะรัฐมนตรีกัมพูชา พลเอก เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา นายซุน จันทอล รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา นายวาร์ คิมฮอง รัฐมนตรีอาวุโสรับผิดชอบคณะกรรมการเขตแดนกัมพูชา นายโอน ปวนมุนีรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา นายอุ๊ก ราบุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงกัมพูชา นายฮอง ชวน ณารง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกัมพูชา นายตรำ อิว ตึก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่งกัมพูชา นายทอง คน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยว นายอิต ซอมเฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสก เจินดา โซเพีย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา นายศรี ธัมมรงค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายเกา กิมฮวน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (JCR) ไทย - กัมพูชา ครั้งที่ 2 ว่า รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสเป็นประธานการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการไทย – กัมพูชา ร่วมกับ สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ในวันนี้ ซึ่งตรงกับวันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและกัมพูชาเมื่อ 65 ปีที่ผ่าน และห่างเหินจากการจัดการประชุมในระดับนี้ร่วมกันเป็นเวลาถึง 12 ปี ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในปัจจุบันนี้ อยู่ในสถานะที่ดีที่สุด เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งไว้วางใจ เข้าใจซึ่งกันและกัน และมุ่งมั่นยกระดับความร่วมมือเพื่อความเป็นหุ้นส่วนเพื่อก้าวสู่สันติภาพและความมั่นคั่ง (Partnership for Peace and Prosperity) ทั้งสองประเทศจะเร่งผลักดันการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มุ่งพัฒนาร่วมกันและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ เพื่อเป็นพื้นที่แห่งความร่วมมือและการพัฒนาร่วมกัน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวชื่นชมภารกิจการหารือทวิภาคีวานนี้ และการประชุม JCR ครั้งที่ 2 ในวันนี้ว่า เป็นเสมือนสักขีพยาน ยืนยันถึงความก้าวหน้าในการร่วมมือของทั้งสองประเทศที่มีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนาน ผู้นำและรัฐมนตรีของไทยและกัมพูชาได้ตัดสินใจร่วมกันบนพื้นฐานความต้องการและประโยชน์ของประชาชานของทั้งสองประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพิ่มปริมาณ มูลค่า การค้าและการลงทุน การท่องเที่ยวบกและชายฝั่ง เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมทั้งถนนและรถไฟ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้กล่าวสำนึกในพระกรุณาของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานความช่วยเหลือกัมพูชาในการพัฒนาด้านสังคม สาธารณสุขและการศึกษา ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา และรัฐบาลกัมพูชาเตรียมความพร้อมถวายการต้อนรับในโอกาสในการเสด็จฯ เยือนกัมพูชาเพื่อเป็นองค์ประธานในการวางศิลาฤกษ์สถาบันเทคโนโลยีกำปงสปือในต้นปีหน้าด้วย

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอก เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ได้รายงานข้อคิดเห็นด้านภาพรวมการเมืองและความมั่นคงไทย-กัมพูชา โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า ความร่วมมือภายใต้กรอบการเมืองและความมั่นคงระหว่างไทยกับกัมพูชาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก มีการพบปะแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับ เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจและไว้วางใจซึ่งกันและกัน ตลอดแนวชายแดนมีความสงบสุข ประชาชนไปมาหาสู่กันได้เป็นปกติ มีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาประเทศในทุกด้านส่งผลให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ไทยกับกัมพูชาได้พัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดจุดผ่านแดนใหม่ ๆ ตลอดแนวพรมแดน เพื่อส่งเสริมการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน และสนับสนุนการขยายตัวของการค้าและการลงทุน ทั้งสองประเทศมีร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม สกัดกั้นกลุ่มอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ การลักลอบขนยาเสพติดข้ามแดน การค้ามนุษย์และการลักลอบตัดไม้ อาทิ ดำเนินกิจกรรมหมู่บ้านสีขาวตามแนวชายแดนเพื่อปลอดจากยาเสพติด ไทยและกัมพูชาจะร่วมกันปราบปรามกระบวนการค้ามนุษย์ รวมทั้งการป้องกันและดูแลเหยื่อในภาคแรงงาน โดยทั้งสองฝ่ายยืนยันจะดำเนินการเข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อให้พื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศเป็นพื้นที่ที่มีความมั่นคงและผาสุก ตามนโยบายของรัฐบาลไทยและกัมพูชาที่ประสงค์ให้พื้นที่ชายแดนไทย - กัมพูชา เป็นชายแดนแห่งสันติภาพ ความร่วมมือและการพัฒนา และเพื่อความเจริญร่วมกันของประชาคมอาเซียน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและนายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักคณะรัฐมนตรีกัมพูชา ได้เสนอข้อคิดเห็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ 3 ด้าน คือ 1)ด้านความเชื่อมโยง ทั้งทางบกและทางทะเลโดยเร่งรัดการเปิดการเดินรถไฟจากอรัญประเทศไปกรุงพนมเปญให้ได้ภายในปี 2559 สำหรับความเชื่อมโยงทางทะเล จะใช้ประโยชน์จากท่าเรือขนาดเล็กที่มีอยู่ตามชายฝั่งของไทย กัมพูชา และเวียดนาม ในการขนส่งสินค้าและพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างกัน ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายควรส่งเสริมการท่องเที่ยวตามแนวคิด Two Kingdoms One Destination สนับสนุนแพคเก็จทัวร์สำหรับการท่องเที่ยวในสองประเทศร่วมกัน โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกและภายในภูมิภาค 2)ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน ในลักษณะ Thailand + 1 ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการลงทุนในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชาได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ ไทยและกัมพูชาเห็นชอบร่วมกันในการผลักดันเป้าหมายขยายปริมาณมูลค่าการค้าและการลงทุนของสองประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ในช่วง5 ปีข้างหน้า โดยอำนวยความสะดวกจุดผ่านแดน การขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพและลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ด้านพลังงาน ขอให้รัฐบาลกัมพูชาสนับสนุนโครงการที่ฝ่ายไทยสนใจ อาทิ โครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำที่สตึงมนัม และโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดเกาะกง ประเด็นแรงงาน จะร่วมมือในการตรวจพิสูจน์สัญชาติและยืนยันจะดูแลแรงงานกัมพูชาเท่าเทียมกับแรงงานไทย เพราะแรงงานกัมพูชาที่มีประสบการณ์จากการทำงานที่ไทยเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาของไทยและกัมพูชาต่อไป 3) การสนับสนุนของไทย โดยเฉพาะการพัฒนาเกษตรของกัมพูชา ในด้านการพัฒนาปศุสัตว์ ประมง การเก็บผลไม้และผลิตผลทางการเกษตร การพัฒนาระบบกักกันพืชและการตรวจสอบต่าง ๆ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของกัมพูชาในทุก ๆ ด้าน อาทิ ในด้านการจัดทำอนุสัญญายกเว้นการเก็บภาษีซ้อน การฝึกอบรมแรงงานกัมพูชา เพื่อยกระดับฝีมือแรงงาน การพัฒนาตลาดทุนและตลาดหลักทรัพย์ของกัมพูชา เป็นต้น ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจไทยและกัมพูชา เห็นพ้องว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับสองประเทศและอนาคตของประชาคมอาเซียนด้วย

พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลด้านสังคมและนายฮอง ซวน ณารง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกัมพูชา รายงานข้อคิดเห็นความร่วมมือด้านสังคม วัฒนธรรมและการศึกษา ได้เสนอข้อคิดเห็นความร่วมมือด้านสังคม วัฒนธรรม และการศึกษา ว่า ประเทศทั้งสองต้องขจัดความไม่ไว้วางใจระหว่างกันให้หมดสิ้น เพื่อเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย – กัมพูชาในยุคที่ทั้งสองประเทศกำลังจะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน และความตั้งใจพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่หุ้นส่วนของความมั่งคั่งและสันติสุข ในช่วงปี 2559 ซึ่งเป็นปีฉลองครบรอบ 65 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต จะมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทั้งการแข่งขันฟุตบอล การแสดงสินค้า ทั้งในไทยและกัมพูชา ด้านการศึกษา ไทยยินดีเป็นอย่างยิ่งหากรัฐบาลกัมพูชาจะสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาเขมรในประเทศไทย อาทิ การแลกเปลี่ยนวิทยากร การให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่สนใจศึกษาภาษาเขมร ด้านสาธารณสุข ทั้งสองประเทศจะร่วมมือพัฒนาด้านสาธารณสุขตามแนวชายแดนที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะปรากฏเป็นความร่วมมือในแถลงการณ์ร่วม ได้แก่ (1) การพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยข้ามชายแดน (2) การจัดตั้งโรงพยาบาลพี่ – น้อง หรือโรงพยาบาลเพื่อนมิตรในบริเวณจังหวัดชายแดน (3) ความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งบุคลากรการแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข (4) การควบคุมโรคติดต่อ นอกจากนี้ ไทยยังจะให้การสนับสนุนในการพัฒนาอาชีพ ในโครงการพัฒนาชุมชนในกัมพูชา โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

หลังเสร็จสิ้นการรายงาน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวรับรองแถลงการณ์ร่วม (Joint Declaration) พร้อมสรุปในสาระสำคัญว่า ไทยและกัมพูชา คือ ครอบครัวอาเซียน ที่จะต้องมีก้าวเดินไปพร้อมๆ กัน มีความไว้วางใจและเพื่อประโยชน์อย่างเท่าเทียมของประชาชนทั้งสองประเทศและภูมิภาค เพื่อส่งเสริมความเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งสองประเทศจะต้องร่วมกันยกระดับร่วมมือ เพิ่มห่วงโซ่มูลค้าในการผลิตของสินค้าไทย กัมพูชาและอาเซียนในตลาดโลก เน้นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างประชาชนและราชการ บนพื้นฐานความต้องการของประชาชานทั้งฝ่ายตามโครงการสำคัญ (project based cooperation) เป้าหมายสำคัญ คือการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาประเทศควบคู่กับการยึดหลักเกณฑ์สากล การดูแลสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ น้ำ อากาศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์โลก ที่ทุกประเทศได้ร่วมรับรองในการประชุมสหประชาชาติที่ผ่าน ผู้นำทั้งสองประเทศจะร่วมกันติดตามความก้าวหน้าทุกระยะอย่างสม่ำเสมอด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวสนับสนุนและย้ำว่า วันนี้ ถือเป็นรูปแบบการหารือที่ความสำเร็จเป็นอย่างดี มีการพบปะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รายงานความก้าวหน้าในทุกมิติ ดังนั้น ขอเชิญนายกรัฐมนตรี เยือนกัมพูชาเพื่อเป็นประธานร่วมในการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 3 ณ กรุงพนมเปญ ในปีหน้าด้วย

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ฯ นายกรัฐมนตรีไทยและกัมพูชา ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสาร 4 ฉบับ ประกอบด้วย

(1) แถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 2 เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ทางการเมืองที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้นในด้านสำคัญต่าง ๆ

(2) บันทึกความเข้าใจเพื่อการพัฒนาจุดผ่านแดนแห่งใหม่ที่บ้านหนองเอี่ยน จ.สระแก้ว และสตึงบท จ.บันเตียเมียนเจย ของกัมพูชา

(3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือทางวิชาการ ความร่วมมือด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน และความร่วมมือด้านการจ้างงาน และ

(4) ข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงาน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้การจ้างงานมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ขจัดปัญหาการจ้างงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์

(5) ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสภาธุรกิจไทย-กัมพูชาและสภาธุรกิจกัมพูชา-ไทย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ