กสอ. และ สสว. ผนึกกำลังหน่วยร่วม ผุดโครงการปรับแผนธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถ SMEs ตั้งเป้าดัน 17,000 กิจการ SMEs พ้นวิกฤติ โตได้ในระยะยาว

ข่าวทั่วไป Thursday November 19, 2015 15:03 —สำนักโฆษก

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (กสอ.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ขานรับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ผุดโครงการอุดรอยรั่วธุรกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม (SMEs) พร้อมดันกว่า 17,000 กิจการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ จับติวเข้มเข้าโครงการปรับแผนธุรกิจและ เพิ่มขีดความสามารถ SMEs มั่นใจดันผู้ประกอบการโตได้ในระยะยาว

วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน 2558 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการปรับแผนธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถ SMEs (Kick Off) ภายใต้มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามนโยบายรัฐบาล พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ “ช่วย SMEs ฝ่าวิกฤติ สู่ธุรกิจที่ยั่งยืน”

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงมาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับนโยบายจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และต้องการความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ โดยเป็นการบูรณาการร่วมกัน ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง “รัฐบาลได้มอบหมายนโยบายให้กับกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและเติบโตขึ้นอีกครั้ง ภายใต้งบประมาณโครงการ 630 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือ SMEs จำนวน 17,000 กิจการทั่วประเทศ โดยแบ่งสัดส่วนเป็นภาคการผลิต 7,000 กิจการ มีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักที่เข้าไปรับผิดชอบดูแล ส่วนภาคการค้าและบริการ 10,000 กิจการ มี สสว. เป็นหน่วยงานหลักที่เข้าไปดูแลและ ทำการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการจากกลุ่มลูกค้าของธนาคารต่าง ๆ ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย โดยวิธีการดำเนินงานนั้นเราจะมีผู้เชี่ยวชาญของทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าไปวินิจฉัยถึงปัญหา ของผู้ประกอบการ แล้วส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือ พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึก อย่างใกล้ชิด”

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ 430 ล้านบาท เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือ SMEs ภาคการผลิต จำนวน 7,000 ราย ทั่วประเทศ ที่มีความประสงค์ในการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถ สำหรับความพร้อมของโครงการดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งตั้งคณะทำงานโครงการฯ เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว รวมถึงได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เดินหน้าเตรียมความพร้อมสร้างความเข้าใจให้กับพื้นที่ในเขตความรับผิดชอบของแต่ละจังหวัด และเร่งประชาสัมพันธ์เชิญชวน SMEs ภาคการผลิตสมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยสัดส่วนการสมัครผู้ประกอบการในแต่งละจังหวัดแบ่งตามขนาดของพื้นที่ที่มีการขึ้นทะเบียนโรงงาน คือ จังหวัดขนาดใหญ่ 130 กิจการ จังหวัดขนาดกลาง 100 กิจการ และจังหวัดขนาดเล็ก 40 กิจการ

ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “สำหรับโครงการนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมุ่งหวังให้ SMEs ทั้ง 7,000 ราย มีแนวคิดในการพัฒนาจัดการธุรกิจให้เป็นระบบ สามารถจัดทำแผนพัฒนาและฟื้นฟูธุรกิจ และต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงนวัตกรรม และเพื่อให้ SMEs สามารถวิเคราะห์สภาพปัญหาและแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นได้ตรงจุด เพื่อนำไปต่อยอดการพัฒนาได้อย่างถูกต้อง และสอดคล้องกับสภาพปัญหาไปจนถึงความมุ่งหวังที่ต้องการให้ SMEs มีผลิตภาพ (Productivity) และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นการพัฒนาเพื่อให้เขาสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

โดยลักษณะของโครงการจะเป็นการประเมินและวินิจฉัย จำนวน 2-3 man-day ต่อกิจการ จำนวน 7,000 กิจการ เพื่อให้ทราบปัญหาต่างๆ ของกิจการ หากกิจการใดที่ประเมินเบื้องต้นแล้วประสบปัญหาไม่หนักมากก็จะส่งผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแนะนำต่อไปอีกสถานประกอบการ อีก 2-3 man-day ต่อกิจการ จำนวน 4,000 กิจการ ท้ายสุดหากวินิจฉัยแล้วพบว่าสถานประกอบการต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนเพิ่มเติม ก็จะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปปรึกษาแนะนำเชิงลึกเฉพาะด้าน เพื่อให้การแก้ไขอย่างทันท่วงทีและเป็นรูปธรรม จำนวน 12 man-day ต่อกิจการ จำนวน 1,000 กิจการ

ทั้งนี้ ปัญหาที่ผู้ประกอบการ SMEs ประสบอยู่มีหลายประการ อาทิ ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน, ปัญหาด้านบุคลากร ซึ่ง SMEs มีข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพของแรงงานที่มีทักษะฝีมือความรู้และแรงงานระดับฝีมือต่ำ ปัญหาด้านการตลาดที่ขาดข้อมูลการตลาดเชิงลึกในเรื่องข้อมูลคู่แข่งขันและด้านข้อมูลผู้บริโภค ไปจนถึงการขาดโอกาสทางการตลาด ปัญหาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ขาดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี การทำวิจัยและพัฒนาสินค้านวัตกรรม โดยเฉพาะการสร้างความแตกต่างและการสร้างตราสินค้า และเมื่อผู้ประกอบการประสบปัญหารุมเร้า ย่อมเกิดความสับสนลังเลไม่รู้ว่าต้องแก้ปัญหาด้านใดก่อน ดังนั้นโครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อตรวจสอบปัญหาของผู้ประกอบการ พร้อมเสนอแผนการปรับแผนธุรกิจ เพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาและกำหนดทิศทางธุรกิจ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและเป็นระบบ

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เผยว่า ในส่วนของ สสว. ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ดูแลลูกค้ากลุ่ม Turn Around จำนวน 10,000 ราย ในปี 2559 ซึ่งจะเน้นผู้ประกอบการ SMEs ในภาคการค้าและบริการ รวมถึงผู้ประกอบการในธุรกิจการเกษตร โดย สสว. กำหนดผู้ประกอบการเป้าหมายที่อยู่ในข่ายจะได้รับการคัดเลือกไว้ ดังนี้ คือ (1) ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่เป็นลูกค้าธนาคารของรัฐ กล่าวคือ มีวงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท ซึ่งมีความยากลำบากในการชำระหนี้ แต่มีความบริสุทธิ์ใจ และมีเจตนาที่จะทำกิจการ (2) ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของ สสว. ซึ่งมียอดขายลดลงค่อนข้างมากอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปี หรือประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง หรือปัญหาทางการผลิต และ (3) เป็นผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลขนาดเล็ก มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งส่งงบการเงินให้กับกระทรวงพาณิชย์อย่างสม่ำเสมอ แต่มียอดขายลดลงค่อนข้างมากอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 3 ปี หรือประสบปัญหาในการประกอบธุรกิจ ขาดสภาพคล่อง หรือไม่มีช่องทางการจัดจำหน่าย

วิธีการช่วยเหลือของ สสว. คือ จัดให้มีการวินิจฉัยเชิงลึกเป็นรายกิจการ เพื่อหาประเด็นที่จำเป็นต้องปรับปรุง ทั้งในด้านการผลิต การจำหน่าย และการเงิน ในรายที่พิจารณาแล้วพบว่า ยังมีศักยภาพพอที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ สสว. จะประสานงานให้ปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เดิม ในกรณีที่ SMEs ที่ได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จำเป็นต้องได้รับสภาพคล่องเพิ่ม จะพิจารณาให้กู้ยืมจากกองทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อมของ สสว. ซึ่งจะจัดตั้งขึ้น เป็นวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพราะ SMEs ในกลุ่มนี้ ไม่สามารถกู้ยืมเงินจากระบบสถาบันการเงินได้ โดย สสว. จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมที่จะให้ SMEs กู้เพิ่มรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย ระยะเวลาผ่อนชำระ 5-7 ปีตามความจำเป็น ทั้งนี้จะต้องขึ้นกับกระแสเงินสด และความสามารถในการชำระของผู้ประกอบการแต่ละราย จากนั้น สสว. จะมอบให้เจ้าหนี้เดิมของ SMEs รายนั้น ทำหน้าที่ในการเก็บเงินชำระหนี้ (lone collector) ต่อไป

สำหรับกิจกรรมของการเปิดตัวโครงการในวันนี้ ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมชี้แจงโครงการจากนั้นประธานในพิธี พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วม Kick Off โครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถ SMEs โดยการบูรณาการ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านหน่วยงานของภาครัฐ ซึ่งได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

ส่วนเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการนั้น จะคัดเลือกจากกิจการที่ต้องการปรับแผนธุรกิจเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยวิเคราะห์จากผลการดำเนินธุรกิจในรอบ 6 เดือน มียอดขายหรือกำไรลดลงโดยพิจารณาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าสาธารณูปโภค ยอดการสั่งซื้อ-ขายวัตถุดิบ เป็นนิติบุคคลมีการจดทะเบียนการค้า มีผู้ถือหุ้นเป็นสัญชาติไทยร้อยละ 51 ขึ้นไป ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ดำเนินธุรกิจตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป มีที่ตั้งโรงงานอยู่ในจังหวัดที่ยื่นใบสมัคร ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่ : www.ช่วยเอสเอ็มอี.com เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ จนถึง 30 ธันวาคม 2558 หรือติดต่อ สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร.0 2202 4419 , 0 2202 4525 , 0 2202 4534, (063) 272 2494 , (063) 272 2495 , (063) 2722496 E-mail : helpsme@dip.go.th

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ