วันนี้ (21พ.ย.58) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายรัฐบาล เพื่อปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติดให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในปี 2558 กระทรวงมหาดไทยได้มีการดำเนินงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องและจริงจังทุกพื้นที่ โดยมีศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนภารกิจ และมีศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด และอำเภอ เป็นหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ มีผลการดำเนินงาน ดังนี้
1. ด้านการป้องกัน มุ่งเน้นการสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนให้เข้มแข็ง สร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในชุมชน โดยใช้กลไกคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ร่วมกับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และผู้ประสานงานหมู่บ้านหรือชุมชน ผู้ประสานงานพลังแผ่นดิน (25 ตาสับปะรด) ลงพื้นที่สำรวจ วิเคราะห์แยกแยะสถานะปัญหายาเสพติดในพื้นที่ และรณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้ทุกคนตระหนักในเรื่องพิษภัยของยาเสพติด และสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ผ่านการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยในระยะเร่งด่วนได้ดำเนินการในพื้นหมู่บ้านที่มีปัญหารุนแรงเป็นลำดับแรกก่อน จากนั้นได้ขยายผลไปยังพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนอื่นๆ จำนวน 64,431 แห่ง ซึ่งมีหมู่บ้าน/ชุมชนที่สร้างความเข้มแข็งได้อย่างมีประสิทธิภาพจนรับรางวัลจากสำนักงาน ป.ป.ส. จำนวน 29 หมู่บ้าน นอกจากนี้ยังได้นำกลไกการทำงานของหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินเข้ามาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในหมู่บ้าน/ชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งขณะนี้มีกองทุนแม่ของแผ่นดินทั่วประเทศ 18,497 แห่ง โดยในปี2558 มีการขยายผลหมู่บ้านกองทุนแม่ฯ ไปแล้วจำนวน 695 แห่ง และในปี 2559 จะมีการขยายต้นกล้ากองทุนแม่ฯ เพิ่มเติมอีก 942แห่ง รวมทั้งได้ดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้กับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในสถานศึกษาทุกระดับทั่วประเทศผ่านกิจกรรมต่างๆ มีสถานศึกษาที่จัดกิจกรรมไปแล้ว จำนวน 10,353 แห่ง และดำเนินการจัดระเบียบสังคมในพื้นที่เสี่ยงและบังคับใช้กฎหมายตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่อง มาตรการ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางและการควบคุมสถานบริการ โดยลงพื้นที่ตรวจ กวดขัน และจัดระเบียบสังคมในสถานบริการ สถานบันเทิง หอพัก บ้านเช่า ร้านเกมส์ ร้านอินเตอร์เน็ตและพื้นที่สาธารณะที่มีความเสี่ยงไปแล้ว จำนวน 30,574 แห่ง
2. ด้านการบำบัดฟื้นฟูในปีที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้มีการปรับปรุงกระบวนการบำบัดรักษาฟื้นฟู ตามหลักสูตรและมาตรฐานของสาธารณสุข และมีการติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดอย่างครบวงจร โดยจัดตั้งศูนย์คัดกรองผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูในทุกอำเภอทำหน้าที่คัดกรองผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด โดยจำแนกและประเมินความรุนแรงของผู้เข้ารับการบำบัดก่อนส่งต่อไปบำบัดฟื้นฟูในสถานที่บำบัดหรือสถานที่อื่นตามความเหมาะสมกับความหนักเบาของการใช้สารเสพติด และได้จัดทำค่าย “ศูนย์ขวัญแผ่นดิน” เพื่อนำผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดด้วยความสมัครใจ มีผู้ผ่านบำบัดแล้วจำนวน 56,707 คน
ด้านการติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัด โดยศูนย์เพื่อประสานการดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูระดับจังหวัดและอำเภอ โดยมี “ทีมสหวิชาชีพ” ซึ่งประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัคร ทุกประเภทในหมู่บ้านหรือชุมชน และสาธารณสุข ทำหน้าที่ติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดและให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ โดยลงพื้นที่ติดตามแบบรายบุคคล เยี่ยมถึงบ้าน และครอบครัว เพื่อสอบถามเจ้าตัวถึงชีวิตความเป็นอยู่ และดูสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัว และสังเกตพฤติกรรมด้วยความจริงใจและมีเมตตา สามารถติดตามผู้ผ่านการบำบัดแล้ว ได้จำนวน 111,690 คน พบตัว 93,904 คน และได้ให้ความช่วยเหลือแล้วจำนวน11,311 คน แบ่งเป็น การช่วยเหลือด้านการฝึกอาชีพ 4,164 คน การจัดหางาน 847 คน การศึกษา 493 คน ให้ทุนประกอบอาชีพ 276 คน การรักษาสุขภาพ 55คน และการช่วยเหลืออื่นๆ ตามความเหมาะสมอีก จำนวน 4,976คน ซึ่งทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีกำลังใจ สามารถกลับมาดำรงชีวิตได้ตามปกติและกลับเป็นคนดีของครอบครัวและสังคม
3. ด้านการปราบปราม โดยฝ่ายปกครองได้บูรณาการร่วมกับตำรวจ ทหาร ในการปิดล้อม ตรวจค้น ตั้งด่านแบบบูรณาการ เพื่อสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดนและตอนในเพื่อปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดในทุกพื้นที่ สามารถจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและยึดของกลางเป็นยาเสพติดประเภทต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังได้ใช้วิธีประชุมประชาคมในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อค้นหาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดเพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟู ซึ่งดำเนินการไปแล้วจำนวน 178,747 ครั้ง รวมทั้งการใช้มาตรการลงโทษอย่างจริงจังกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดตาม โครงการกวาดบ้านสีขาว
สำหรับแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของกระทรวงมหาดไทยปี 2559 จะเน้นการขับเคลื่อนภารกิจเพื่อลด Demand และ Supply ของปัญหายาเสพติดลงให้ได้ โดยการลด Demand คือ การป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีความต้องการใช้ยาเสพติด โดยจะขยายรูปแบบกิจกรรมให้ครอบคลุมเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกสถานศึกษาและประชาชนทั่วไปเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงมากยิ่งขึ้น และจะเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีปัญหายาเสพติดที่ค่อนข้างรุนแรงอีก จำนวน 7,743 แห่ง จะขยายหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินอีก จำนวน 878 แห่ง และยกระดับศูนย์การเรียนรู้กองทุนแม่ระดับอำเภออีกจำนวน77 แห่งทั่วประเทศ
ด้านการลด Supply คือการลดปริมาณยาเสพติดลง โดยเน้นการสกัดกั้นยาเสพติดทั้งในและนอกประเทศ โดยบูรณาการร่วมกับ ทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองในการปราบปรามผู้ค้ายาเสพติด รวมทั้งจะพัฒนามาตรฐานกระบวนการบำบัดรักษาทุกระบบให้มีคุณภาพมีประสิทธิภาพ และเป็นไปอย่างครบวงจร โดยเพิ่มหลักสูตรเรื่องการฝึกอาชีพให้กับผู้ผ่านการบำบัดตามความเหมาะสมเพื่อช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษาได้อย่างเป็นรูปธรรม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดเป้าหมายในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อลดปริมาณผู้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และนำคนออกจากวงจรการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้ได้อย่างชัดเจน โดยยึดถือกรอบทิศทางการทำงานตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2559 ของศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแห่งชาติ โดยจะเร่งสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้าน/ชุมชน รวมทั้งการปราบปรามผู้ค้ารายสำคัญและจัดระเบียบสังคมอย่างต่อเนื่องจริงจังทุกพื้นที่ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยต้องขอความร่วมมือจากทุกคนในสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมและเฝ้าระวัง เป็นหู เป็นตา ในการดูแลสมาชิกในหมู่บ้าน/ชุมชนให้ห่างไกลจากปัญหายาเสพติดเพื่อทำให้ปัญหายาเสพติดหมดสิ้นไปจากประเทศไทย.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th