23 พฤศจิกายน 2558 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดย สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สส.) ร่วมมือ เทศบาลตำบลเกาะสีชัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี บริหารจัดการขยะชุมชนเทศบาลตำบลเกาะสีชัง อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เพื่อให้เกาะสีชัง เป็นพื้นที่พิเศษ มีระบบการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ และถูกหลักสุขาภิบาล รองรับปริมาณขยะได้รวม 20 ตัน/วัน โดยนำร่องการใช้เทคโนโลยีทางกลและชีวภาพหรือเทคโนโลยี MBT (Mechanical and Biological Treatment Technology) เพื่อการจัดการขยะชุมชน 5 ตัน/วัน คาดว่าผลสำเร็จของจากโครงการฯ จะนำไปสู่รูปแบบของส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ให้สามารถบริหารจัดการการขยะและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ณ เวทีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อชุมชน อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี
รศ.ดร. วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ความร่วมมือในวันนี้ถือเป็นการบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาจังหวัดอีกโครงการหนึ่ง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การพัฒนาจังหวัด ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนการพัฒนาจังหวัด โดยความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 เห็นชอบให้ขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา ชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของประชาชนในพื้นที่ในแต่ละจังหวัด อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งจะเป็นโครงการฯ ที่จะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพของพื้นที่โดยเฉพาะอำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ให้สามารถบริหารจัดการการขยะและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การพึ่งพาตนเองในการจัดการขยะได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นางวนิดา บุญนาคด้า ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์ส่งเสริมและบูรณาการด้าน วทน. กล่าวว่า สืบเนื่องจากเทศบาลตำบลเกาะสีชัง ได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดชลบุรี โดย ศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำภูมิภาค ภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 มีความประสงค์จะนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร ที่พัฒนาขึ้นโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส). มาใช้ในพื้นที่เกาะสีชังคือ เทคโนโลยีการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีการแบบเชิงกล-ชีวภาพ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถปรับเสถียรภาพของขยะมูลฝอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel:RDF) และปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายเพื่อจัดการขยะชุมชนทั่วประเทศ และยังเป็นเทคโนโลยีการจัดการขยะ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้สนับสนุนให้มีการนำไปใช้ในพื้นที่นำร่องและสัมฤทธิ์ผลมาแล้ว เช่น โครงการบริหารจัดการขยะชุมชน พื้นที่ตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556
โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินงานภายใต้รูปแบบการบูรณาการความร่วมมือแก้ไขปัญหาขยะร่วมกัน 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง โดยมีกรอบงบประมาณรวม ทั้งสิ้น 18,232,200.- บาท วัตถุประสงค์ของโครงการดังต่อไปนี้ 1) เพื่อให้เกาะสีชัง เป็นพื้นที่พิเศษ มีระบบการบริหารจัดการขยะที่ มีประสิทธิภาพ และถูกหลักสุขาภิบาลรองรับปริมาณขยะได้รวม 20 ตัน/วัน ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือและงบประมาณ 2) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการจัดการขยะ โดยนำร่องการใช้เทคโนโลยีทางกลและชีวภาพหรือเทคโนโลยี MBT (Mechanical and Biological Treatment Technology) เพื่อการจัดการขยะชุมชน 5 ตัน/วัน ภายใต้การสนับสนุนจาก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะที่เป็นหน่วยงานให้การส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้พัฒนาชุมชนระดับต้นแบบ 3) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการขยะชุมชนให้แก่ เทศบาลตำบลเกาะสีชัง ให้มี ระบบจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งการคัดแยก การนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ อย่างมีประสิทธิภาพตามยุทธศาสตร์ การพัฒนาของประเทศ 4) เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดโครงการสร้างระบบการจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) และปุ๋ยอินทรีย์เพื่อจัดการขยะ ขนาด 5 ตัน/วัน โดยวิธีทางกลและชีวภาพ อย่างเป็นรูปธรรมในเทศบาลตำบลเกาะสีชัง 5) เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขยะและระบบน้ำเสียใต้งบประมาณจากกลุ่มยุทธศาสตร์จังหวัดชลบุรี ปีงบประมาณ 2559 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการจัดการขยะชุมชน 15 ตัน/วัน ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ 6) เพื่อให้เกิดรูปแบบการบูรณาการความร่วมมือเก้ไขปัญหาขยะและขับเคลื่อนแผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชาติให้สัมฤทธิ์ผล
ทั้งนี้ ผลสำเร็จของจากโครงการฯ จะนำไปสู่รูปแบบของส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ให้สามารถบริหารจัดการการขยะและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบรรลุเป้าหมายให้เกาะสีชังมีระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพถูกหลักสุขาภิบาล รองรับปริมาณขยะได้รวม 20 ตัน/วัน ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สร้างรูปแบบการบริหารจัดการขยะแนวใหม่อันนาไปสู่การพึ่งพาตนเองในการจัดการขยะได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด อันเป็นการขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาสมดุลและยั่งยืนต่อไป
ผศ.ดร. วีรชัย อาจหาญ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า เทคโนโลยีการบำบัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีการแบบเชิงกล-ชีวภาพ เป็นอีกหนึ่งในผลงานการคิดค้น วิจัย พัฒนาทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ผ่านมาการวิจัยและพัฒนามาเกือบ 10 ปี เป็นเทคโนโลยีที่สามารถปรับเสถียรภาพของขยะมูลฝอยได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเป็นเชื้อเพลิงขยะและปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายเพื่อจัดการขยะชุมชนทั่วประเทศ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ขอขอบคุณกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มอบหมายภารกิจให้มหาวิทยาลัยสุรนารีเป็นสถาบันการศึกษาคลีนิกเทคโนโลยีเครือข่ายได้นำองค์ความรู้ ผลการวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีไปสู่การใช้ประโยชน์จริงเพื่อแก้ไขปัญหาขยะ”วาระแห่งชาติ” ตามนโยบายของรัฐบาลและช่วยส่งเสริมกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้พัฒนาชุมชนระดับต้นแบบ เทศบาลตำบลเกาะสีชังอย่างเป็นรูปธรรม
ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ
ถ่ายภาพและวีดิโอ : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์, นายรัฐพล หงสไกร
ประสานงานได้ที่ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
อีเมลล์ : pr@most.go.th Facebook : sciencethailand
ที่มา: http://www.thaigov.go.th