การจัดงานในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งมีพี่น้องประชาชนเข้าเยี่ยมชมงานและซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก โดยมียอดผู้เข้าชมงานกว่า 2.4 แสนคน เฉลี่ยวันละเกือบ 1 หมื่นคน มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ถือเป็นโอกาสที่ดีของกระทรวงมหาดไทยที่ได้นำสินค้า OTOP ที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอันมีคุณค่า มีเอกลักษณ์ มาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่สายตาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่ออนุรักษ์ สืบสาน และเผยแพร่ภูมิปัญญาไทย ให้ทุกคนได้ภาคภูมิใจร่วมกัน และเป็นโอกาสทองของพี่น้องกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จากทั่วประเทศให้ได้มีช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด โดยตลอด 3 สัปดาห์ของการจัดงาน OTOP To AEC มียอดจำหน่าย รวมทั้งสิ้น กว่า 70ล้านบาท แยกเป็นการจำหน่ายในงานประมาณ 60 ล้านบาท และยอดสั่งซื้อประมาณ 10 ล้านบาท โดยมียอดสั่งซื้อจากต่างประเทศ อาทิ ประเภทเครื่องประดับ สานเงินสานทอง จังหวัดสมุทรปราการ ออเดอร์จากจีนประมาณ 1 แสนบาท และลำไยอบแห้ง จังหวัดลำพูน ออเดอร์จีน 5 หมื่นบาท เป็นต้น และมีผู้เข้ารับบริการของศูนย์บริการร่วมกระทรวงมหาดไทย จำนวนประมาณ 1.6 หมื่นคน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมและสนับสนุนสินค้า OTOP ให้เกิดความเข้มแข็งจากภายใน โดยในปี 2559 กระทรวงมหาดไทยได้เตรียมความพร้อมและมีแผนพัฒนาสินค้า OTOP ทั้งระบบ เพื่อยกระดับจาก OTOPเวอร์ชั่น 1.0 ไปสู่ OTOP เวอร์ชั่น 2.0 โดยจะเริ่มตั้งแต่จัดระบบการบริหารใหม่เพื่อขับเคลื่อน OTOP อย่างบูรณาการ ภายใต้แนวคิด "ประชารัฐ" ชุมชนทำ รัฐชี้เป้า เอกชนช่วยขับเคลื่อน โดยใช้กลไกร่วมภาครัฐ – เอกชน - ชุมชน หน่วยงานภาครัฐร่วมบูรณาการเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยภาครัฐจะต้องทำงานเชิงรุกและเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงในการให้คำแนะนำต่างๆ ทั้งเรื่องคุณภาพความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ การนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเรื่องการตลาดการส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายให้หลากหลาย โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ระดับ 1 - 3 ดาวจะต้องส่งเสริมพัฒนาและยกระดับสู่ระดับผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น โดยกระทรวงมหาดไทยจะเร่งเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนอันจะผลให้มีการกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนต่อไป.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th