นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและนายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงการพัฒนาหลักสูตรระดับปวส. ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อพัฒนากำลังคนระดับช่างเทคนิคและนักเทคโนโลยีตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีดร. อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมแสดงความยินดี ณ ห้องประ ชุม 201 สำนักงานกลาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สอศ. เป็นหน่วยงานทางการศึกษาของรัฐบาล มีภารกิจหลักในการจัดการอาชีวศึกษาที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศ ทางด้านวิชาชีพ ส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานเมื่อจบการศึกษา และมีรายได้ระหว่างเรียน ดังนั้น การได้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับ กฟผ. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีเทคโนโลยีทันสมัย บุคลากรมีความรู้ความเชี่ยวชาญ จึงเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อการพัฒนากำลังคนให้มีความสามารถตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเป็นการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามนโยบายและสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ที่ก้าวไปสู่สากลเฉพาะประชาคมอาเซียน
รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีระยะเวลา 5 ปี มีวิทยาลัยสังกัด สอศ. 10 แห่ง เป็นศูนย์กลางนำร่องของภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคกลาง วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี วิทยาลัยการอาชีพกาญจนบุรี วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์(ลาดขวาง) และวิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี ภาคเหนือ วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ และวิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก ภาคใต้ วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ วิทยาลัยการอาชีพนาทวี และวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิทยาลัยเทคนิคน้ำพอง โดยจะประสานกับหน่วยงานของ กฟผ. ในพื้นที่ในการจัดการศึกษาและพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่ง สอศ. จะจัดการเรียนการสอนเฉพาะทางและเร่งรัดพัฒนาสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการตามเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของภูมิภาคของประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยโครงการนี้จะรับนักศึกษาในพื้นที่ของ กฟผ. จำนวน 1,625 คน ในระยะเวลา 5 ปี ใน 5 สาขาวิชา คือ 1. สาขาวิชาไฟฟ้า สาขางานเทคโนโลยีระบบส่งไฟฟ้า 2. สาขาวิชาไฟฟ้า สาขางานเทคโนโลยีอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า 3. สาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล สาขางานเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า 4.สาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล สาขางานบำรุงรักษาเครื่องกลอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า และ 5. สาขาวิชาเทคนิคโลหะ สาขางานเทคโนโลยีงานเชื่อมอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 กฟผ. และ สอศ.. ได้มีโครงการความร่วมมือและจัดตั้งสถานศึกษาต้นแบบขึ้น คือ “วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ” จ.ลำปาง พร้อมทั้งทดลองจัดการเรียนการสอนร่วมกันในระบบทวิภาคีและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีหลักสูตรการเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สำเร็จมาแล้วอย่างสมบูรณ์ 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาเทคนิคอุตสาหกรรม สาขาวิชาเครื่องกล และสาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง
ด้านนายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฟผ. มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนรอบหน่วยงานของ กฟผ. ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการทำบันทึกข้อตกลงครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาและสร้างโอกาสด้านการศึกษาวิชาชีพ ตามความต้องการของชุมชนในพื้นที่รอบหน่วยงานของ กฟผ. เพื่อพัฒนากำลังคนในระดับช่างเทคนิคและระดับเทคโนโลยีให้มีทักษะความชำนาญและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งสามารถนำไปประกอบอาชีพอิสระได้
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สอศ.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th