มูลนิธิเอสซีจี ได้รายงานให้ รมว.ศึกษาธิการ รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานทุนการศึกษา "ฝีมือชน คนสร้างชาติ" ซึ่งเปิดรับสมัครนักเรียนชั้น ม.3 ที่สนใจเข้าเรียนต่อสายอาชีวะในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ซึ่งมีเกณฑ์คัดเลือกเด็ก ม.3 ที่ได้เกรดเฉลี่ย 2.7 ขึ้นไป เข้าเรียนในสาขาสาขาช่างอุตสาหกรรมและการบริการ ซึ่งเป็นสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเป็นทุนแบบให้เปล่า 2 หมื่นบาท/ปี ไม่มีภาระผูกพันต้องใช้คืน และต่อเนื่องไปจนสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แต่หากผู้รับทุนไปก่อเหตุทะเลาะวิวาท หรือเกรดไม่ถึง จะสิ้นสภาพนักเรียนทุน
ประเด็นสำคัญของการให้ทุนดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเข้ามาเรียนสายอาชีวะมากขึ้น เพราะปัจจุบันเด็กไทยที่จบชั้น ม.3 เลือกเรียนต่อสายสามัญสูงถึง 60% ส่วนสายช่างมีเพียง 40% สวนทางกับความต้องการจริง ทั้งที่บุคลากรที่จบสายช่างอุตสาหกรรมจากสถาบันการศึกษาโดยรวมแล้วเป็นผู้มีคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรมหลักทั้ง 6 กลุ่ม เพราะฉะนั้นเรียนจบสายอาชีวะแล้วมีงานทำ และมีรายได้ไม่ด้อยกว่าผู้ที่จบปริญญาตรี ที่สำคัญหากใครมีความเชี่ยวชาญด้านทักษะมากก็จะมีรายได้สูงขึ้นอีก
ทั้งนี้ มูลนิธิฯ ได้ขอความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ 4 เรื่อง คือ 1) ร่วมเผยแพร่คำว่า "ฝีมือชน" ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้ผู้เรียนสายอาชีวะ 2) ประสานความร่วมมือในการสร้างต้นแบบอาชีวศึกษาและฝีมือชนที่เป็นทั้งคนเก่งและคนดี ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ทั้งปริมาณและคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมาได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายสร้างต้นแบบไว้บ้างแล้วที่ จ.สระบุรี 3) สนับสนุนการขยายผลโมเดลที่ประสบความสำเร็จ 4) รวบรวมบุคลากรฝีมือชนต้นแบบ เพื่อเผยแพร่และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กได้เห็นแบบอย่างที่ดี
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า มูลนิธิเอสซีจี มีวิธีการที่น่าสนใจหลากหลายในการดำเนินโครงการเริ่มตั้งแต่การปฐมนิเทศเพื่อให้เด็กมีแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่และผู้บริหาร มีการจัดกิจกรรม Soft Side เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เพื่อส่งเสริมจริยธรรมและคุณธรรมในการใช้ชีวิต ความสามัคคี ความเป็นผู้นำ ให้เด็กรู้จักคิดถึงผู้อื่น การแบ่งปัน และปูพื้นฐานการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา
ทั้งนี้ เมื่อเด็กเรียน ปวช. 3 ก็ได้ให้เด็กไปฝึกงานในสถานประกอบการของบริษัทในเครือเอสซีจี โดยจัดให้มีพี่เลี้ยงดูแล เพื่อให้เด็กเห็นว่าการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมีศักดิ์ศรี มีหน้ามีตา และเห็นความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
นอกจากนี้ มูลนิธิได้เน้นการสร้างทัศนคติหรือค่านิยมทางสังคมให้เกิดขึ้น ซึ่งได้จัดทำมินิซีรี่ย์ให้เด็ก ม.3 รับรู้ว่าการเรียนอาชีวะมีความเท่ มีอนาคต มีรายได้ เป็นอนาคตของชาติได้จริง ในขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมให้กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองเห็นความสำคัญในการเรียนสายอาชีวะเพราะพ่อแม่มีอิทธิพลต่อการเรียนต่อของลูก แต่ในต่างจังหวัดได้ศึกษากลับพบว่าเพื่อนฝูงมีอิทธิพลการเลือกเรียนมากกว่าพ่อแม่
ส่วนข้อเสนอความร่วมมือทั้ง 4 ข้อของมูลนิธิเอสซีจีนั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการพร้อมให้การสนับสนุนความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ 2 คือ ความร่วมมือในการสร้างต้นแบบอาชีวศึกษาและฝีมือชนที่เป็นทั้งคนเก่งและคนดี ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ รมช.ศึกษาธิการ (พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) ซึ่งกำกับดูแลการอาชีวศึกษา ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อร่วมกันดำเนินการสร้างต้นแบบอาชีวศึกษาให้เกิดขึ้น อาจเป็นที่ จ.สระบุรี หรือแห่งอื่นก็ได้ เพื่อให้การผลิตผู้เรียนสายอาชีวศึกษามีสัดส่วนผู้เรียนเพิ่มขึ้น และนำไปสู่การสร้างอาชีวะให้มีความเป็นเลิศ ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลต่อไป
ภาพ : ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ให้ข้อคิดการอาชีวศึกษาด้วยว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกของการสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นในการเรียนอาชีวศึกษา คือความปลอดภัยของการเรียนอาชีวะ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและมากกว่าปัจจัยส่งเสริมด้านอื่นๆ คือ การมีงานทำ การมีรายได้ มีโอกาสความก้าวหน้า ค่านิยม และผู้ปกครอง
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
27/11/2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th