ธ.ก.ส.โต้บัตรสินเชื่อต้นทุนเพียง 32 บาท และมั่นใจสหกรณ์ค้าปุ๋ยโปร่งใส

ข่าวทั่วไป Monday November 30, 2015 14:58 —สำนักโฆษก

ธ.ก.ส.ยืนยันโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรโปร่งใส โดยการเช่าระบบ 3 ปี หลังจากครบ 3 ปีแล้วยกกรรมสิทธิให้ ธ.ก.ส.ทั้งระบบ ซึ่งดำเนินการด้วยวิธีให้เสนอราคาแข่งขันกัน ต้นทุนบัตรเพียง 32 บาทต่อใบ ไม่ใช่ 200 บาทต่อใบ ตามที่ปรากฏเป็นข่าว และมั่นใจการส่งเสริมให้สหกรณ์ค้าปุ๋ยเพื่อช่วยรายย่อยสอดคล้องกับแนวนโยบาย พื้นฐานแห่งรัฐ ไม่ได้ผูกขาด เพราะมีบริษัทผู้ผลิตจำนวน 42 ราย ไม่ใช่ 4 ราย ตัวแทนสหกรณ์วอน สนช.ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนสมาชิกใช้อภิปราย

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ชี้แจงว่าในปี 2554 ธ.ก.ส.ได้ดำเนินโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น โดยมอบบัตรพร้อมวงเงินสินเชื่อเพื่อรูดซื้อปัจจัยการผลิต ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ มีเกษตรกรได้รับบัตรกว่า 4 ล้านราย สามารถใช้บัตรรูดซื้อที่ร้านค้ากว่า 10,000 แห่ง ประกอบด้วย ร้านค้าของสหกรณ์การเกษตร จำนวน 3,500 แห่ง ปั้มน้ำมัน 1,800 แห่ง และร้านค้าเอกชนในท้องถิ่นอีกกว่า 4,700 แห่ง ยอดการใช้สินเชื่อผ่านบัตรปีละประมาณเกือบ 30,000 ล้านบาท โดยเกษตรกรไม่ต้องเสียดอกเบี้ย 30 วันแรก ซึ่งผลการประเมินโดยสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) เป็นองค์กรอิสระทางวิชาการภายใต้การกำกับดูแลของมูลนิธิพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ พบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจและภูมิใจที่ได้มีโอกาสใช้บริการสินเชื่อบัตรอิเล็คทรอนิกส์เป็นครั้งแรกเทียบเท่ากับลูกค้าธนาคารพาณิชย์ สำหรับการจัดหาระบบพร้อมบัตรตามโครงการ ธ.ก.ส. ใช้วิธีให้ผู้เสนอราคาที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดเสนอราคาแข่งขันกันให้มากรายที่สุด ตามหนังสือเวียนของสำนักนายกรัฐมนตรี มีผู้ประกอบการสนใจรวม 13 ราย ยื่นซองเสนอราคา จำนวน 4 ราย โดยบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกเป็นบริษัทคนไทยที่เสนอราคาต่ำสุด โดยมีราคาจัดทำบัตรใบละ 32 บาทเท่านั้น

นายลักษณ์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า มีสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) บางจังหวัดได้สำรวจความต้องการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่เป็นสมาชิก และขอให้บริษัท ไทยธุรกิจเกษตร จำกัด หรือ แท็ปโก้ (ซึ่งถือหุ้นโดย สกต. 77 แห่ง ในสัดส่วนร้อยละ 90 และ ธ.ก.ส.ในสัดส่วนร้อยละ 10) นำเอาข้อมูลความต้องการใช้ปุ๋ยที่ได้ไปเจรจากับบริษัทจำหน่ายปุ๋ยในส่วนกลาง เพื่อลดราคาลง ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดีและเกิดประโยชน์แก่สมาชิกรายย่อยอย่างแท้จริง รวมทั้งสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนระบบสหกรณ์เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจให้สมาชิกรายย่อย ต่อมาในปี 2556 มี สกต.ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 77 แห่ง จัดหาปุ๋ยจากบริษัทผู้จำหน่ายปุ๋ยโดยตรง จำนวน 17 บริษัท จำนวนปุ๋ยที่จัดหา 468,591 ตัน ซึ่งบริษัทผู้จำหน่ายปุ๋ยยินดีลดราคา และจ่ายดอกเบี้ยสินเชื่อผ่านบัตรแทนเกษตรกร โดยเกษตรกรไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเป็นเวลารวม 5 เดือน คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่เกษตรกรประหยัดได้รวมทั้งสิ้น 370 ล้านบาท รวมทั้ง สามารถตรึงราคาปุ๋ยได้ในระดับหนึ่งอีกด้วย โดยสรุป มีบริษัทผู้จำหน่ายปุ๋ยเข้าร่วมโครงการจำนวน 17 ราย ไม่ใช่ 4 ราย ตามที่ปรากฏเป็นข่าว จำแนกเป็นบริษัทผู้จำหน่ายปุ๋ยที่มีขนาดใหญ่ ถือครองส่วนแบ่งตลาดมาก จำนวน 2 ราย จำนวนปุ๋ย 120,116 ตัน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.6) และบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง จำนวน 15 ราย จำหน่ายปุ๋ยได้ 348,475 ตัน (คิดเป็นร้อยละ74.4) แสดงว่าเกษตรกรสามารถเลือกซื้อปุ๋ยได้ตามความต้องการ แม้ว่าจะได้ส่วนลดจากบริษัทขนาดใหญ่น้อยกว่าก็ตาม จึงไม่มีการบังคับหรือผูกขาดแต่อย่างใด

นอกจากนี้ นายจิตตพัฒน์ ประสิทธิศุภการ ประธานกรรมการ สกต.จังหวัดนครสวรรค์ ในฐานะกรรมการกลาง สกต. แห่งประเทศไทย (คก.สกต.) และกรรมการบริษัท ไทยธุรกิจเกษตร จำกัด พร้อมด้วยกรรมการอีก 26 คนได้ร่วมแถลงข่าวและกล่าวว่าการดำเนินงานของแท็ปโก้ เป็นไปตามการร้องขอของ สกต. ผู้ถือหุ้นและช่วยทำให้เกิดการรวมพลังซื้อปัจจัยการผลิตของสมาชิก สกต.ที่เป็นเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศกว่า 3.6 ล้านราย โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและยึดมั่นในอุดมการณ์สหกรณ์ ไม่มีการบังคับหรือผูกขาด ดังนั้น บ่ายวันนี้จะรวมตัวกัน เพื่อยื่นหนังสือขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บางท่านที่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อน และวอน สนช.ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนสมาชิก สนช.ใช้อภิปราย รวมทั้ง ยืนยันว่าหากมีเจ้าหน้าที่ สกต.หรือพนักงาน ธ.ก.ส.บังคับซื้อจริงถือเป็นการกระทำผิดส่วนบุคคล ขอให้แจ้งเบาะแสต่อคณะกรรมการกลาง สกต.หรือผู้จัดการ ธ.ก.ส. เพื่อเอาผิดทางวินัยขั้นรุนแรงกับบุคคลเหล่านั้น ทั้งนี้ เป็นไปตามปฎิญญาระหว่าง สกต. และ ธ.ก.ส. ที่ได้กระทำร่วมกันไว้

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ