กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ขับเคลื่อนแผนพัฒนาดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ปี 2559 นำร่อง 1 แสนคนใน 1,000 ตำบล ด้วยหลัก “สังคมไทย ใส่ใจผู้สูงวัย เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้”
วันนี้ (30 พฤศจิกายน 2558)ที่ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กรุงเทพฯ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมและมอบนโยบายการพัฒนาระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ตำบล(Long Term Care)ปี 2559 แก่ผู้บริหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้รับผิดชอบงานผู้สูงอายุ 1,200 คนทั้งส่วนกลางและภูมิภาค พร้อมลงนามความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงานหลัก คือ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการจัดระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง แบบบูรณาการในพื้นที่
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมความพร้อมระบบบริการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดประมาณว่า ปี 2583 จะมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 20.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 32 ของประชากรไทย ส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพภาครัฐระบุปี 2565 จะมีค่าใช้จ่ายสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 60,000 ล้านบาทในปี 2553 เป็น 220,000 ล้านบาท เกิดจาก 2 ปัจจัย คือ ค่าใช้จ่ายทางสุขภาพที่สูงขึ้นตามอายุและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก่อนการเสียชีวิต ทั้งนี้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคเข่าเสื่อม โรคซึมเศร้า เป็นผู้พิการ ผู้ป่วยนอนติดเตียงและเข้าถึงระบบบริการสุขภาพเพียงร้อยละ 56.7
ในปี 2559 นี้ รัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ทั้งกลุ่มติดบ้านและกลุ่มติดเตียง ได้อนุมัติงบประมาณ 600 ล้านบาท ดูแลผู้สูงอายุกลุ่มที่มีภาวะพึ่งพิง 1 แสนคนให้ครอบคลุมทุกจังหวัด ทุกอำเภอๆละ 1 ตำบลทั่วประเทศ ด้วยโครงการพัฒนาระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ตำบล(Long Term Care) เน้นแนวคิด “สังคมไทย ใส่ใจผู้สูงวัย เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้” ได้รับการดูแลจากทีมสหสาขาวิชาชีพที่บ้านอย่างสม่ำเสมอตามปัญหาสุขภาพและชุดสิทธิประโยชน์ ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่นมีส่วนร่วม โดยพัฒนาอาชีพผู้ช่วยดูแลผู้สูงอายุ ทีมหมอครอบครัวและอาสาสมัครในชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี เข้าถึงบริการทั่วถึงและเท่าเทียม ลดภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพภาครัฐ
ในงบประมาณทั้งหมดได้จัดสรร 500 ล้านบาทไปให้กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น 1,000 แห่งที่มีความพร้อม เฉลี่ย 5,000 บาทต่อคน และ100 ล้านบาทให้หน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่เพื่อจัดบริการดูแลผู้สูงอายุต่อเนื่องที่บ้านและหน่วยบริการ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนการทำงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ส่วน สปสช.กำหนดหลักเกณฑ์จัดสรรงบประมาณให้กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สนับสนุนการดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่
ที่มา: http://www.thaigov.go.th