ดร.พิเชฐฯ รมว.วิทย์ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ผู้ประกอบการยุคใหม่กับนโยบายสนับสนุนด้านนวัตกรรมของรัฐ

ข่าวทั่วไป Monday November 30, 2015 15:17 —สำนักโฆษก

(29 พฤศจิกายน 2558) ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ สร้างไทยให้เข้มแข็ง พร้อมกันนี้ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ผู้ประกอบการยุคใหม่กับนโยบายสนับสนุนด้านนวัตกรรมของรัฐ ภายใต้แนวคิดนวัตกรรมนำไทย สู่ความเป็นเลิศ

ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 33 มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ คณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้า แห่งประเทศไทย หอการค้าต่างประเทศ ประธาน เลขาธิการ กรรมการ นักธุรกิจรุ่นใหม่ (YEC) หอการค้าจังหวัดทุกจังหวัด ผู้แทนจากส่วนราชการต่าง ๆ สื่อมวลชนจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สำหรับการประชุมสัมมนาหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ โดยหอการค้าไทย และหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ในฐานะองค์กรภาคเอกชน ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ ให้มีส่วนร่วมในคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของประเทศทั้งในระดับจังหวัดและระดับชาติ

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ได้ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 33 ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมกับหอการค้าจังหวัด จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27-29 พ.ย. เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางการปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้ดำเนินต่อไปในทิศทางเดียวกัน

รมว.วท. กล่าวว่าจากการที่ท่านรองนายกฯ สมคิด ไปเยี่ยมสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมขั้นสูงแห่งประเทศญี่ปุ่น (AIST) ที่เมืองทสึคุบะ และได้เห็นนวัตกรรมที่ AIST ให้ความสำคัญ ซึ่งจะมีผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น คาร์บอนนาโนทูป ซึ่งเป็นการจัดโครงสร้างของคาร์บอนแบบเฮกซะโกนอล ทำให้มีความแข็งแรงกว่าเหล็กแต่มีน้ำหนักเบามาก ได้เห็นตัวอย่างของพลาสติกนำไฟฟ้า (Conductive Plastics) ตัวเก็บประจุความจุสูงที่มีขนาดเล็ก (Ultracapacitor) ซึ่งจะมีความสำคัญต่ออุสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยังได้เห็นห้อง clean room ที่มีขนาดเล็ก เพื่อใช้ผลิตชิ้นส่วนนาโน ขนาดเล็กกว่าเส้นผม 1 พันเท่า ได้เห็นคอมพิวเตอร์พกพาที่มีขนาดเท่านามบัตร ประเด็นสำคัญคือ การนำนวัตกรรมมาเป็นธงในการขับเคลื่อนธุรกิจ วันนี้รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนเรื่องนวัตกรรม สร้างระบบการเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ มีการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มแข็ง ซึ่งรัฐบาลไทยกำลังเร่งดำเนินการเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน พร้อมตั้งเป้าให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาตั้งแต่ปีก่อน ให้เกิดการลงทุนที่ 1 เปอร์เซ็นของจีดีพี และให้เอกชนเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน

รัฐบาลให้การสนับสนุนเรื่องมาตรการเคลื่อนย้ายนักวิจัยไปเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอกชน ภายใต้โครงการทาเล้นท์โมบิลิตี้ การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังรวบรวมฐานข้อมูลห้องปฎิบัติการและสร้าง one-stop service เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ อีกทั้งยังสนับสนุนมหาวิทยาลัยให้ดำเนินการสร้างระบบนิเวศให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม เช่นที่ ม.พระจอมเกล้าธนบุรี ม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ เรามีโอกาสสร้างอนาคตประเทศไทยร่วมกัน ผู้ประกอบการสามารถสนับสนุนการสร้างคน เปิดโรงงานหรือโรงผลิตให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ได้มีสัมผัสกับของจริง คนรุ่นใหม่มีความสามารถมากนะครับ เขาคิดต่างจากคนรุ่นเก่า เขาเบื่อห้องเรียน การที่เปิดแหล่งเรียนรู้ของผู้ประกอบการให้เขาเห็นจะสร้างความตื่นเต้นให้กับเขา สร้างความภูมิใจให้กับตนเอง เพราะวันนี้คนรุ่นใหม่เก่งเรื่องการค้นหานวัตกรรม มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และเข้าใจการทำงานร่วมกัน การบูรณาการ พวกเราต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศให้พวกเขาได้เรียนรู้อย่างเต็มความสามารถ เขามีความสามารถสูงแต่ปัจจุบันได้รับการวัดด้วยไม้บรรทัดแท่งเดียวกัน ทำให้สังคมมองว่าการศึกษาไทยไม่ดีพอเอกชนต้องลุกขึ้นมาดำเนินการ สร้างนวัตกรรม ทั้งกลุ่มธุรกิจที่ดำเนินการอยู่แล้ว และกลุ่มธุรกิจใหม่ ที่เรียกว่า สตาร์ทอัพ เราต้องเอานวัตกรรมเป็นตัวตั้งในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของท่าน และในที่สุด มูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศ

ประสานงานได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ