โฆษกรัฐบาลเผยนายกรัฐมนตรีรณรงค์ให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสำคัญ เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พร้อมพึงพอใจในมาตรการบริหารจัดการของภาครัฐในการแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งปี 59

ข่าวทั่วไป Tuesday December 29, 2015 10:15 —สำนักโฆษก

วันนี้ (29 ธ.ค. 58) เวลา 15.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการประชุมฯ เรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุม

ทั้งนี้ การประชุมในวันนี้เป็นการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในทุกงานที่รัฐบาลได้มอบนโยบายให้หน่วยงานต่าง ๆ เร่งขับเคลื่อนการทำงานให้เห็นผลสัมฤทธิ์อย่างชัดเจน อีกทั้งปี 2559 รัฐบาลจะต้องมีเป้าหมายและตัวชี้วัดในการทำงานโดยให้ทุกกลุ่มงานทั้ง 6 กลุ่ม (กลุ่มความมั่นคง กลุ่มกฎหมาย กลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มสังคม กลุ่มศึกษาวิจัย เทคโนโลยี และพลังงาน รวมทั้งกลุ่มวัฒนธรรมท่องเที่ยวและกีฬา) เร่งการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้เกิดความชัดเจน และพร้อมสร้างความเข้าใจและชี้แจงต่อประชาชน

นายกรัฐมนตรีได้สั่งการประเด็นสำคัญ สรุป ดังนี้

1. การรณรงค์ให้หน่วยงานความมั่นคงสร้างความปลอดภัยและทรัพย์สินในการเดินทางของประชาชนเพื่อสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยว การลงทุน และเศรษฐกิจให้มั่นคงที่สุด โดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1 – 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์รถยนต์ของภาคเอกชนนำนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียประสบอุบัติเหตุจนกระทั่งบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและเห็นว่าไม่ควรปล่อยมีสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก จนควรมีการป้องกัน ป้องปราม และรณรงค์ให้ผู้ประกอบการมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบ พร้อมให้ความร่วมมือภาครัฐในการตรวจสอบพนักงานขับรถยนต์ให้มีความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจในการให้บริการนักท่องเที่ยว และหากเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวอีก จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมาตรการ ยึดใบขับขี่ยานพาหนะ หรือพักกิจการของผู้ประกอบการชั่วคราวจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังด้วย

2. นายกรัฐมนตรีเน้นให้ความสำคัญเรื่องกฎหมายที่รัฐบาลได้ประกาศบังคับใช้เพื่อช่วยในการบริหารราชการแผ่นดินให้เกิดความคล่องตัว ลดข้อจำกัดแล้ะเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ตลอดจนมีระเบียบกฎเกณฑ์ในการดูแลข้าราชการและเจ้าหน้าที่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้ฝ่ายการเมืองมาบีบบังคับแทรกแซง ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี ( นายวิษณุ เครืองาม) ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม

3. ประเด็นการนำคนพิการมาทำงานในระบบงานทั่วไป ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้คนปกติจำนวน 100 คน ให้รับคนพิการจำนวน 1 คน เข้าทำงานในสถานประกอบการ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ตั้งเป้าหมายให้ปี 2559 – 2560 ให้ภาครัฐและเอกชนมีส่วนร่วมให้ผู้พิการจำนวน 1.7 ล้านคนทั่วประเทศ ได้เข้าทำงานในสถานประกอบการของภาคเอกชน และสถานที่ทำงานของภาครัฐมากยิ่งขึ้น (ปัจจุบันภาคเอกชนรับคนพิการเข้าทำงานจำนวน 34,000 คน และภาครัฐรับคนพิการเข้าทำงานจำนวน 5 – 6 พันคน)

4. ประเด็นสถานการณ์น้ำนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกระทรวงมหาดไทย จัดทำรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับน้ำ ถึงระดับอำเภอ ซึ่งเป็นที่น่าพึงพอใจ แต่นายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยถึงภาครวมของปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ น้ำใต้ดิน แหล่งน้ำอื่น ๆ ซึ่งได้ทำการเก็บกักน้ำไว้กว่า 21,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งประเทศไทยมีความจำเป็นใช้น้ำถึงเดือนกันยายน จำนวน 18,000 – 19,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นเครื่องยืนยันว่าประเทศไทยจะไม่ขาดแคลนน้ำ แต่ก็ไม่ใช่เป็นหลักประกันว่าจะสามารถใช้น้ำได้ตามอำเภอใจ เพราะเราจำเป็นต้องมีการใช้น้ำ เพื่ออุปโภค บริโภค เพื่อรักษาระบบนิเวศวิทยาและเพื่อการเกษตร โดยทำให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นฤดูแล้งได้

5. ประเด็นการปลูกข้าวของเกษตรกรซึ่งผลสำรวจมีการปลูกข้าวโดยรวม 2.87 ล้านไร่ แยกเป็นปลูกข้าวนาปี 3 แสน ไร่ ปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง 1 ล้านไร่ และปลูกข้าวนาปัง 1.58 ล้านไร่ แม้ว่าตัวเลขการปลูกข้าวนาปังจะลดลงไปบ้างแต่ยังไม่เป็นที่พึ่งพอใจมากนัก เนื่องจากราคาข้าวในตลาดโลกตกลง จึงจำเป็นรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกข้าวน้อยลง หากปลูกข้าวมากก็ใช้น้ำมาก ดังนั้น นายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชิญเกษตรกรมาดูแหล่งเก็บกักน้ำด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเชื่อมั่นในสิ่งที่รัฐบาลแนะนำด้วยการปลูกพืชชนิดอื่น ทดแทนซึ่งได้ราคาที่ดีกว่าและใช้น้ำน้อยกว่ามาก

6. ประเด็นโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในปี 57/58 ซึ่งรัฐบาลตั้งงบประมาณไว้ 927 ล้านบาท ปี58/59 ตั้งงบประมาณไว้ 385 ล้านบาท ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ขออนุมัติขยายวงเงินเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ผู้ประกอบการโรงสี สามารถซื้อข้าวเก็บ stock และค่อย ๆ ระบายออก ซึ่งสามารถเก็บ stock ข้าวได้กว่า 1.60 ล้านตัน หรือ ร้อยละ 35 ผลผลิตใหม่ (4.64 ล้านตัน) จึงจำเป็นต้องของบประมาณเพิ่ม 204 ล้านบาท เมื่อรวมกับกรอบวงเงิน 503 ล้านบาท ก็จะสามารถให้โครงการดังกล่าว สามารถดำเนินการต่อไปได้ ทำให้ราคาข้าวอยู่ในกรอบ 8 พันบาทต่อตัน อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีได้ปรารภเพิ่มเติมว่ามีหลายพื้นที่ที่ราคาข้าวเหลือเพียง 7,500 – 7,800 บาทต่อตัน และบางพื้นที่ราคาข้าวเหลือเพียง 6,300 - 6,500 บาทต่อตัน ซึ่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าราคาข้าว7,500 – 7,800 บาทต่อตัน มีความชื้น ร้อยละ15 ขณะเดียวกันราคาข้าว 6,300 - 6,500 บาทต่อตัน มีความชื้นร้อยละ 25 ซึ่งทั้ง 2 ราคาดังกล่าวความชื้นไม่ได้มาตรฐานจนส่งผลกระทบต่อราคาข้าวอยู่ในกรอบที่ต่ำกว่า 8 พันบาทต่อตัน

7. ประเด็นโครงการจัดสรรวงเงินกู้ของกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเคยให้ความช่วยเหลือเฉพาะกองทุนหมู่บ้าน ระดับ A และ B แต่ปัจจุบันกองทุนหมู่บ้านระดับ C และ D ที่มีความพยายามพัฒนาศักยภาพให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกับ ระดับ A และ B ก็สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งได้ขยายเวลาจากวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ไปเป็น วันที่ 31 มีนาคม 2559 ซึ่งมีกรอบวงเงินทั้งสิ้น 6 หมื่นล้านบาท (ธนาคารออมสิน 3 หมื่นล้านบาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. 3 หมื่นล้านบาท)

********************

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์

สุภิญญา รายงาน

ดวงใจ ตรวจ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ