ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นั้น เป็นที่น่ายินดีว่า จากการเข้าพบและหารือกับ รัฐมนตรีด้านนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ไอโกะ ชิมาจิริ ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลงร่วมกัน 3 ประการ คือ 1. การจัดตั้ง Climate Change Technology Transfer Center 2. การจัดตั้งสถาบันวิจัยนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านดังกล่าว โดยทั้งสองฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกันที่จะใช้หน่วยงานกลางด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของญี่ปุ่น คือ สถาบันบัณฑิตพัฒนานโยบายแห่งชาติ (National Graduate Institute for Policy Study : GRIPS) ในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว และ 3. การจัดตั้ง National Space Program โดยทำงานร่วมกันผ่านทางคณะทำงาน Overseas Space Working Group นอกจากนี้ ยังได้เข้าพบนายฮิโรชิ ฮาเซะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬาและวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น เพื่อหารือถึงการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใต้ (Japan-ASEAN Science, Technology and Innovation Platform :JASTIP) ภายในต้นปีหน้า
ขณะเดียวกันยังได้หารือถึงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านวิศวกรรมการผลิตเพื่อพัฒนาวิศวกรและช่างเทคนิค ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทญี่ปุ่นในไทย ตลอดจนประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง โดยเชิญกระทรวงศึกษาธิการฯของญี่ปุ่น เข้าร่วมโครงการ ฟู๊ดอินโนโพลีส (FoodInnopolis) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Science park) และได้เสนอให้ญี่ปุ่นลงทุนจัดตั้งโรงงานต้นแบบและห้องปฏิบัติการด้านอาหาร โดยยกข้อได้เปรียบของไทยในด้านทำเลที่ตั้งวัตถุดิบ แรงงานฐานความรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นอีกศูนย์กลางของการทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมอาหารที่ครบวงจร เน้นด้านอาหารสุขภาพและอาหารฟังก์ชั่น สารปรุงแต่งอาหารและสารสกัดทางโภชนาการ ผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ออร์กานิก อาหารพิเศษเฉพาะกลุ่ม เช่น อาหารสำหรับผู้สูงอายุ อาหารฮาลาล รวมทั้งกิจกรรมสนับสนุนนวัตกรรมอาหาร เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร เทคโนโลยีบรรจุภัรฑ์ เทคโนโลยีการออกแบบและการพิมพ์ ซึ่งโครงการนี้จะให้บริการที่ครอบคลุมหลายด้าน เช่น พื้นที่ห้องปฏิบัติการ โรงงานต้นแบบ เชื่อมโยงบุคลากรวิจัยจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ เป็นต้น
ดร.พิเชฐ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ร่วมกับทางกระทรวงอุตสาหกรรม จัดสัมมนา โครงการฟู๊ดอินโนโพลีส เพื่อเชิญบริษัทญี่ปุ่นด้านอาหารมาลงทุนวิจัยและพัฒนาในพื้นที่ของโครงการ โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับภาพรวมของโครงการ ตลอดจนมาตรการจูงใจต่างๆ รวมทั้ง ได้ร่วมประชุมกับ Innovation Network Corporation of Japan (INCJ) ซึ่งเป็นเครือข่ายร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ให้การสนับสนุนเงิน เทคโนโลยีและการบริหารจัดการสำหรับ start-ups ผ่านกลไก Open innovation
“ผมได้ร่วมอภิปรายนโยบายสนับสนุนนักลงทุนญี่ปุ่น กับ 4 รัฐมนตรีของไทย คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา โดยพูดในที่ประชุมว่า ที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันออกมาตรการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งจะครอบคลุมถึงประเทศในกลุ่ม CLMV ด้วย ตัวอย่างมาตรการสนับสนุน เช่น 1. โครงการ ฟู๊ดอินโนโพลิส ซึ่งจะใช้ข้อได้เปรียบของไทยในด้านทำเลที่ตั้งและวัตถุดิบ โดยจะเน้นกลุ่ม health และ functional food, food ingredient ผัก ผลไม้ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ 2. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม 3. การพัฒนากำลังคนร่วมกัน 4. การแก้ไขกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆ และ 5. กองทุนเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการใหม่” ดร.พิเชฐ กล่าว
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยท่านรองนายก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้เข้าหารือกับองค์กรวิทยาศาสตร์ชั้น (AIST) ของญี่ปุ่น เพื่อชักจูงให้มาลงทุนห้องวิจัยอาหารในฟู๊ดอินโนโพลีส และทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยวิจัยในประเทศไทย โดยการดึง AIST มาตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยนั้น จะทำให้บริษัทอาหารของญี่ปุ่นกล้าที่จะลงทุนงานวิจัยและนวัตกรรมในฟู๊ดอินโนโพลีส นอกจากนี้ยังเดินทางไปบริษัทเจแปน ทรานสสปอร์ต เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด หรือ J-TREC เพื่อดูความเรียบร้อยของการต่อตู้รถไฟฟ้าโดยสารสายสีม่วง เพื่อให้มั่นใจว่าสายสีม่วงต้องเปิดบริการได้ตามกำหนดภายในเดือนสิงหาคม 2559 โดยเป็นการส่งมอบเพิ่มเติมหลังจากที่ส่งมอบไปแล้วบางส่วนเมื่อไม่นานมานี้
ประสานงานได้ที่ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ภาพข่าวและวีดิโอ : นายรัฐพล หงสไกร,นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313
ที่มา: http://www.thaigov.go.th