นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานของภาครัฐเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน “เทศกาลไหมไทยที่โคราช” ซึ่งในปีนี้ ถือเป็นครั้งที่ 16 “ Thai Silk Festival 2015 ” โดยที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม ให้การสนับสนุนด้านการผลิต ผลิตภัณฑ์ไหมไทยให้มีศักยภาพและยกระดับความสามารถในการแข่งขันและขยายช่องทางการตลาด การสร้างตราสินค้าใหม่จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น การสร้างการรับรู้ในคุณค่าของผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมไทยอย่างต่อเนื่อง การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและการประชาสัมพันธ์ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน รวมทั้งตราสินค้าจากภูมิปัญญาไทยให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของผู้บริโภค การพัฒนาคุณภาพและรูปแบบสินค้าให้เกิดความได้เปรียบในด้านความแตกต่าง การเพิ่มมูลค่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ และการยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าไหมไทยให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งการสร้างความได้เปรียบของผลิตภัณฑ์ไหมไทย นอกจากจะนำรายได้เข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าของไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการขยายช่องทางและโอกาสทางการค้าของไทยให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นแหล่งวัสดุผ้าไหมที่สำคัญของโลก สำหรับการผลิตเสื้อผ้า เครื่องใช้ในบ้านที่ทำจากผ้าไหม อันจะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ไปสู่ชุมชนทั้งในส่วนของ ผู้ปลูกหม่อน ผู้เลี้ยงไหม ผู้ทอผ้า และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ไหมของไทย โดย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมไหมไทยในหลายๆ ด้าน อาทิ พัฒนาด้านบุคลากร โดยเน้นที่ผ้าไหมทอมือ ซึ่งจะเป็นมรดกสืบทอดไปอีกยาวนาน, พัฒนาด้านเทคโนโลยีและด้านการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดการสูญเสียทั้งระบบ และพัฒนารูปแบบสินค้าและการตลาด โดยเน้นที่แฟชั่น และผลิตสินค้าให้เหมาะสมกับรสนิยมของลูกค้า มีการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์สินค้าผ้าไหมอย่างต่อเนื่อง ”
สำหรับตลาดผ้าไหมไทย หากมองภาพรวมการส่งออกในระบบหม่อนไหมทั้งหมด ในปี 2557 มีมูลค่า 1,077,483,683 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 อยู่ 204,217,435 บาท คิดเป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น 23.39 โดยในปี 2557 สินค้าขั้นกลาง คือผ้าไหม มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดที่ 496,499,291 บาทเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง ร้อยละ 76.26 (ปี 56 มูลค่า 281,680,763 บาท)สินค้าต้นน้ำซึ่งเป็นวัตถุดิบการผลิตมีมูลค่าการส่งออก 105,328,298 บาท เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.80 (ปี 56 มูลค่า 101,474,421 บาท) และสินค้าปลายน้ำประเภทผลิตภัณฑ์ไหม มีมูลค่าการส่งออก 475,656,094 บาท ลดลงร้อยละ 2.95 (ปี 56 มูลค่า 490,111,064 บาท) เมื่อเทียบปีต่อปี
ส่วนข้อมูลการส่งออก ปี 2558 ยังเป็นข้อมูลในช่วง 10 เดือน ของปี แต่จากการพิจารณาแนวโน้มอัตราการเจริญเติบโต ข้อมูลยังติดลบในสินค้าที่เป็นเส้นด้าย และผ้าผืน มีเพียงเส้นใยดิบ ที่มีอัตราการเจริญเติบโตเป็นบวกที่ร้อยละ 25.75
“จุดเด่นของไหมไทยเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ จากความแวววาวของเส้นไหมไทย จากความละเอียดอ่อนด้วยฝีมืออันประณีต จากการผลิตที่คำนึงถึงคุณภาพที่ดี จากลวดลายสีสันที่งดงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ผนวกกับความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งของทั้งภาครัฐ ผู้นำท้องถิ่น และเอกชน จะนำพาให้ผ้าไหมไทยเป็นที่ยอมรับและเป็นผู้นำธุรกิจในต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมั่นใจว่าภายในปี 2560 อุตสาหกรรมผ้าไหมไทยก้าวไปสู่ความเป็นสากลโดยเฉพาะการยกระดับผ้าไหมไทยสู่สินค้าแฟชั่นชั้นสูง โอต์ กูตูร์ ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับและนำไปใช้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการผลิตสินค้าแบรนด์เนมชั้นนำระดับโลกต่างๆด้วย”
ด้าน ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รับผิดชอบงานด้านการส่งเสริม SMEs ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิต (Productivity)ของ SMEs ด้วยกระบวนการและเครื่องมือต่าง ๆ เช่น การสร้างระบบบริหารจัดการสากล การยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจ การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การส่งเสริมพัฒนาศักยภาพด้านกระบวนการผลิตและเทคโนโลยี การจัดการด้านพลังงาน การยกระดับระบบการผลิตสู่การผลิตบนฐานนวัตกรรม การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การส่งเสริมพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ (Cluster)จึงได้จัดโครงการเทศกาลไหมไทย(Thai Silk Festival 2015) ครั้งที่ 16 ขึ้นระหว่างวันที่ 9-15 ธันวาคม 2558 ที่ อ.ปักธงชัย จ.นคราชสีมา โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา อำเภอปักธงชัยและสมาคมไหมไทยจ.นครราชสีมาซึ่งในงานนี้จะจัดขึ้นที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 48 พรรษาอำเภอปักธงชัย จ.นครราชสีมา โดยภายในงานเริ่มตั้งแต่เวลา09.00น-24.00น. เพื่อเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์การเป็นศูนย์กลางผ้าไหมคุณภาพดี ได้มาตรฐานในระดับประเทศสู่สากล ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ”
“ เทศกาลไหมไทยสู่สากล Thai Silk Festival 2015 ” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เสน่ห์แห่งเส้นไหม ร้อยสายใยสู่สากล” ซึ่ง โดยกิจกรรมตลอด 7 วัน 7 คืน จะประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ นิทรรศการนวัตกรรมในกระบวนการผลิตผ้าไหม การออกร้านและจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหม กว่าร้อย ร้านค้า, การออกร้านและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP และของดีอำเภอปักธงชัย จังหวีดนครราชสีมา และคลินิกอุตสาหกรรม เพื่อแนะนำให้ความรู้ด้านอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชนแก่ประชาชนทั่วไป การจัดการเจรจาธุรกิจ สำหรับไฮไลท์ในแต่ละวัน เช่น การจัดแสดงแฟชั่นโชว์ บางกอกแฟชั่นคลัสเตอร์ และการประกวดธิดาผ้าไหม และการแสดงจากศิลปินชื่อดังในทุกคืน
นายณรงค์ วุ่นซิ่ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวปิดท้ายว่า “ที่ผ่านมาจังหวัดนครราชสีมาได้กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นขึ้น โดยได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของ “ผ้าไหมโคราช” ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญในการส่งเสริมการสร้างรายได้ในท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของแผ่นดิน และเผยแพร่ชื่อเสียงของผ้าไหมโคราชให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป จึงได้วางยุทธศาสตร์ไหมโคราช ให้โคราช เป็นศูนย์กลางของผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ทั้งด้านการผลิตและจำหน่าย โดยสนับสนุนผ้าไหมโคราชให้มีการทำอย่างเป็นระบบมากขึ้น จากในอดีตที่มีกลุ่มชาวบ้านผลิตผ้าไหมเพื่อเป็นรายได้เสริม ใช้เวลาว่างหลังการทำไร่ ทำนา แต่วันนี้การทำผ้าไหมกำลังเป็นแหล่งรายได้หลักของชาวบ้านที่มีเม็ดเงินสะพัดมหาศาล เป็นการพัฒนาระบบผ้าไหมโคราชที่ได้ผลดีทั้งด้านการสร้างรายได้อย่างคึกคักแก่เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในชุมชนท้องถิ่นหลายอำเภอ ผู้ประกอบการร้านค้าผลิตภัณฑ์ผ้าไหมในโคราช และผลดีทางด้านการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านให้ดำรงสืบไป”
การจัดงานเทศกาลไหมไทย (Thai Silk Festival 2015) ที่อำเภอปักธงชัย นครราชสีมา ในครั้งที่16 นี้จะมีการจัดแสดง นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนารถ นิทรรศการไหม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ในการผลิตผ้าไหมคุณภาพดีและได้มาตรฐาน (มาตรฐานตรานกยูง และมาตรฐาน( มผช. ) การสาธิตวิธีการทำไหม ที่น่าสนใจ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมชมงาน ได้เรียนรู้และเข้าใจกระบวนการผ้าไหมได้อย่างครบวงจร
ที่มา: http://www.thaigov.go.th