รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ในการพิจารณาข้อกฎหมายเชิงบวกต่อการแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งไม่ได้ใช้กฎหมายเพื่อนำไปสู่การบังคับหรือใช้ความรุนแรง แต่เป็นการประชุมเพื่อพิจารณาข้อกฎหมายที่จะใช้ป้องกันและแก้ปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษา
ที่ประชุมได้ทำการแบ่งกลุ่มผู้เกี่ยวข้องออกเป็น 4 กลุ่ม คือ นักเรียน ผู้ปกครอง สถาบันการศึกษา และศิษย์เก่า โดยเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงานทั้ง 4 กลุ่ม เพื่อพิจารณาข้อกฎหมายที่จะใช้ดำเนินการกับกลุ่มคนทั้ง 4 กลุ่ม หากมีการก่อเกิดเหตุทะเลาะวิวาทขึ้น อาทิ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 หมวด 7, ประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น
สำหรับประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับนักเรียนนักศึกษานั้น จะพิจารณาถึงการใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 เกี่ยวกับเรื่องการคุมประพฤติ การลงโทษนักเรียนผู้ก่อเหตุ อีกทั้งผู้ปกครองของผู้ก่อเหตุทะเลาะวิวาทจะได้รับการพิจารณาความผิดตามกฎหมาย เช่นเดียวกับกรณีเด็กแว้นด้วย ส่วนผู้ยุยงส่งเสริมให้เกิดการทะเลาะวิวาท ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องการสืบสวนสอบสวน พิจารณาประมวลกฎหมายอาญาเพื่อลงโทษผู้ยุยงส่งเสริมต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมจะเชิญคณะทำงานประชุมอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุป และกำหนดรายละเอียดแนวทางดำเนินการด้านกฎหมายให้ชัดเจนต่อไป
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการทบทวนอำนาจหน้าที่ของศูนย์เสมารักษ์ ว่าอำนาจที่มีอยู่เดิมนั้นหลวมไปหรือไม่อย่างไร เพื่อให้ศูนย์เสมารักษ์มีอำนาจช่วยเหลือเจ้าพนักงานได้มากขึ้น รวมทั้งจะพิจารณาเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวงเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการทะเลาะวิวาทเข้ามาช่วยเหลือสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ส่วนประเด็นด้านกฎหมายนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุทะเลาะวิวาท เพราะสถิติที่ผ่านมามีการทะเลาะวิวาทของนักเรียนลดน้อยลง ดังจะเห็นได้จากจำนวนสถานศึกษาที่มักก่อเหตุทะเลาะวิวาท 27 แห่ง ประกอบด้วยสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐ 7 แห่ง และอาชีวศึกษาเอกชน 20 แห่ง แต่ในปัจจุบันพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของสถานศึกษาดังกล่าวไม่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทแล้ว
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะได้ดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กนักเรียน โดยจัดให้มีการศึกษาแบบทวิภาคี คือ ให้เด็กนักเรียนได้เรียนและฝึกงานในสถานประกอบการโดยได้รับเงินจากการฝึกงานด้วย เพราะหากเด็กนักเรียนได้ตระหนักและมองเห็นอนาคตของตัวเองอย่างชัดเจน จะสามารถยับยั้งชั่งใจและปฏิเสธเมื่อมีรุ่นพี่ชักชวนไปก่อเหตุทะเลาะวิวาทได้
อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการก็ต้องทบทวนว่าสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชนที่ยังคงมีการทะเลาะวิวาทอยู่ เกิดจากความหละหลวมในส่วนใด และขาดเหลือสิ่งใด เพื่อที่จะช่วยเสริมในสิ่งนั้น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายยังคงเดิมคือนักเรียนอาชีวศึกษาที่ศึกษาอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน โดยมีสาเหตุของการทะเลาะวิวาท คือ ประเพณีและค่านิยมในวัยรุ่น ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะต้องช่วยประคับประคองเด็กนักเรียนเหล่านี้
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th