นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศ จึงมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในบางประเภทโดยใช้กลไกทางภาษีสรรพสามิตรถยนต์ นอกจากนี้ ปัจจุบันปัญหาภาวะโลกร้อนได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น และอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากที่สุด ภาครัฐจึงมุ่งที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน และได้ปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ โดยคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 เห็นชอบหลักการในการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีรถยนต์ โดยอ้างอิงจากการปล่อยมลพิษ หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป และจากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติดังกล่าวข้างต้น จะส่งผลให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่วัดจากประเภทและขนาดความจุเครื่องยนต์ เป็นการวัดจากการปล่อยมลพิษแทน ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดังกล่าว เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกันในการดำเนินการด้านการปฏิบัติ เช่น การออกป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล (Eco Sticker) รวมถึงการตรวจสอบค่าอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร หารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในการวางแนวทางการวัดการปล่อยมลพิษ การตรวจสอบการปล่อยมลพิษ สรุปสาระสำคัญของแนวทางการดำเนินงานเพื่อซักซ้อมความเข้าใจ ดังนี้
1.ผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้าต้องนำรถยนต์ที่จัดจำหน่ายในประเทศไทยผ่านการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือที่รู้จักโดยทั่วไปคือ R83 ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าว จะมีค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ปรากฏอยู่ในผลการตรวจสอบ และรถยนต์บางประเภทต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยประเภทระบบความปลอดภัยเชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุ (Active Safety)
2.ผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้า จะต้องนำผลการตรวจสอบเข้าสู่ระบบของ สศอ. เพื่อให้ค่าดังกล่าวปรากฏอยู่ในป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล (Eco Sticker) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมสรรพสามิต สมอ. และ สศอ. จะตรวจสอบรายละเอียดที่ได้นำเข้าสู่ระบบดังกล่าว หากถูกต้องครบถ้วน ก็จะมีการพิมพ์ป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล (Eco Sticker) ให้ผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้า
3.ผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้า จะต้องยืนยันผลการตรวจสอบดังกล่าวให้กรมสรรพสามิต หรือกรมศุลกากร แล้วแต่จุดความรับผิดเกิด เพื่อกรมสรรพสามิตหรือกรมศุลกากรจะได้จัดเก็บภาษีตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นสำคัญ
4.ป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล (Eco Sticker) ที่ผู้ผลิตในประเทศหรือผู้นำเข้าได้รับจากกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีการตรวจสอบถูกต้องแล้ว จะต้องนำไปปิดไว้ที่รถยนต์ทุกคัน ณ จุดขาย เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และอัตราการใช้พลังงาน
5.กรณีที่รายละเอียดในคำขอการออกป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล (Eco Sticker) ดังกล่าวยังไม่ครบถ้วน ผู้ผลิตในประเทศหรือผู้นำเข้าสามารถใช้ข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากลเบื้องต้น (Eco Sticker เบื้องต้น) แทนก่อนได้ และนำป้ายข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบแล้วมายื่นกับหน่วยงานของรัฐภายใน 45 วัน
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวเป็นแนวทางที่หน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร ใช้เป็นแนวปฏิบัติ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป
สำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต
โทร. 02 668 6604
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th