เห็นชอบแนวทางการให้การอุดหนุนของรัฐในการจัดการศึกษา ขั้นพื้นฐานของโรงเรียนเอกชนอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Friday December 11, 2015 15:42 —สำนักโฆษก

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หารือร่วมกับนายยืนยง จิรัฏฐิติกาล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน และตัวแทนสมาคม/สมาพันธ์ทางการศึกษาเอกชน ใน 2 ประเด็น คือแนวทางการให้การอุดหนุนของรัฐในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนเอกชนอย่างยั่งยืน และโครงสร้างการบริหารงานการศึกษาเอกชน เมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2558 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีนายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ร่วมหารือ

1) เห็นชอบแนวทางการให้การอุดหนุนของรัฐในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนเอกชนอย่างยั่งยืน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับการขอรับการสนับสนุนเงินอุดหนุนรายบุคคลให้แก่โรงเรียนเอกชนเพิ่มเติมจาก 60% ต่อหัวต่อระดับชั้น เป็น 70% สำหรับนักเรียนทั่วไป นักเรียนการกุศล และนักเรียนพิการ ของโรงเรียนเอกชนจำนวน 2,279,076 คน แบ่งเป็นสายสามัญ 2,067,725 คน และสายอาชีพ (ระดับ ปวช.) 211,351 คน แต่การหารือในครั้งนั้นยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะข้อมูลยังไม่เพียงพอ จึงมอบให้ สช.ไปจัดทำข้อมูลประกอบการขอรับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมที่สมเหตุสมผล และมีทิศทางในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ตรงที่สุดเท่าที่จะตรงได้ ก่อนที่จะนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

การประชุมครั้งนี้ จึงได้มาหารือร่วมกันเกี่ยวกับกติกาการใช้เงินอุดหนุนรายบุคคล ซึ่งกติกาเดิมใช้สำหรับค่าใช้จ่ายใน 4 รายการ ได้แก่ เงินเดือนครูและบุคลากร, การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนและครุภัณฑ์, การพัฒนาอาคารสถานที่ และการดำเนินกิจการของโรงเรียน แต่กติกาใหม่เห็นว่าควรเน้น 2 เรื่องที่มีผลโดยตรงต่อผู้เรียนคือ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร เช่น เงินเดือน ค่าจ้างครู ฯลฯ และการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนและครุภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม รมว.ศึกษาธิการ เห็นว่าควรนำผลการทดสอบ O-NET และผลการประเมินของโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment : PISA) มาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา เพื่อช่วยสะท้อนเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณด้านการศึกษาของการจัดสรรเงินรายบุคคลเพิ่มแต่ละโรงเรียนด้วย

นอกจากนี้ จะต้องกำหนดมาตรการต่างๆ หากโรงเรียนเอกชนได้รับเงินจัดสรรรายบุคคลเพิ่มแล้วแต่กลับมีคุณภาพลดลง ก็ควรจะมีมาตรการดำเนินการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม เช่น เมื่อผลการเรียนมีมาตรฐานต่ำลงตั้งแต่ 2-5 ปีติดต่อกัน ควรมีแผนดำเนินการอย่างไรให้เป็นรูปธรรมในแต่ละปี

ทั้งนี้ แนวทางการให้การอุดหนุนของรัฐในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนเอกชนอย่างยั่งยืนที่ได้เห็นชอบในครั้งนี้ สช.จะจัดทำรายละเอียดการของตั้งงบประมาณปี 2560 รายการค่าจัดการเรียนการสอนเพิ่มจำนวนประมาณ 4,747 ล้านบาท เพื่อส่งคำขอต่อสำนักงบประมาณภายในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ พร้อมทั้งจะจัดทำข้อมูล รายละเอียด เงื่อนไข มาตรการ ผลการวิเคราะห์เปรียบเปรียบเทียบต่างๆ เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาต่อไป ซึ่งหากผ่านการพิจารณา จะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ 2560

2) หารือโครงสร้างการบริหารงานของ สช.

ที่ประชุมได้รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์เกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารงานของ สช. ซึ่งผ่านการรับฟังและประชาพิจารณ์มากกว่า 7 ครั้ง มีผู้เกี่ยวข้องที่ได้เข้าร่วมกว่า 10,087 คน โดยเห็นว่า สช.ควรเป็นหน่วยงานที่เป็นกรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล

อย่างไรก็ตาม รมว.ศึกษาธิการ เห็นว่าเรื่องการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการนั้น ได้มอบคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รับฟังปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำไปวางแผนและออกแบบโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการต่อไปแล้ว ดังนั้นหากสมาคมฯ ต้องการมีส่วนร่วมในการเสนอโครงสร้างของ สช. อาจประสานกับคณะทำงานทบทวนบทบาท ภารกิจ และโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานต่อไป

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในที่ประชุมด้วยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาเอกชน จึงต้องการช่วยเหลือเด็กที่เรียนในโรงเรียนเอกชนให้ได้รับการอุดหนุนค่าใช้จ่ายที่เพียงพอต่อการจัดการศึกษา ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนาด้านคุณภาพแล้ว จะช่วยรัฐประหยัดงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศ และเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐในการจัดการศึกษา

นอกจากนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญด้านการประเมินและประกันคุณภาพการศึกษา ที่จะมีระบบการปฏิรูปการประเมินและประกันคุณภาพให้เหมาะสมสอดคล้องมากขึ้น รวมทั้งจะเพิ่มการเป็นโรงเรียนคุณธรรมเข้าไปในหัวข้อการประเมินด้วย เพื่อให้โรงเรียนภาครัฐและเอกชนมีผลสำเร็จ (Outcomes) ในการจัดการศึกษาด้านผู้เรียนมีวินัย คุณธรรม และจริยธรรมด้วย

ส่วนประเด็นการสอบตกซ้ำชั้นนั้น รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในที่ประชุมด้วยว่า ไม่ได้ให้นักเรียนที่เรียนอ่อนสอบตกทุกชั้นเรียน แต่จะเป็นการสอบตกเฉพาะช่วงชั้น เช่น ช่วงชั้นที่ 1 (ชั้น ป.1-3) หากนักเรียนสอบตก ป.1 หรือ ป.2 จะมีการสอนซ่อมเสริมเพื่อเลื่อนชั้น แต่หากตก ป.3 อาจจะต้องซ้ำชั้น อย่างไรก็ตามได้มอบเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานไปศึกษาข้อดีข้อเสีย และรับฟังความคิดเห็น Stakeholders ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวก็เพื่อหาแนวทางการพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพตั้งแต่เริ่มต้นก่อนที่จะเลื่อนชั้นไปตามระบบ ซึ่งหากพบเด็กรายใดมีคุณภาพไม่ดี ก็จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้มีความพร้อมก่อนที่เลื่อนไปในช่วงชั้นเรียนที่สูงขึ้น ส่วนตัวเห็นว่าการตกซ้ำชั้นไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หากเราช่วยกันประคองเด็กให้ดี ความผิดพลาดนี้อาจช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเด็กได้ในอนาคต

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ