“รัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอในการจ่ายเงินชดเชยตามที่ร้องขอ เพราะเมื่อคิดเป็นมูลค่ารวมแล้วอาจต้องใช้เงินถึง 140,000 ล้านบาท นอกจากนั้นยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุวนเวียนไม่รู้จบ รัฐบาลยังมีภาระที่ต้องดูแลเกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ ทั้งชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ และประชาชนอีกกว่า 70 ล้านคน จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรเปิดใจรับฟังและแก้ไขปัญหาร่วมกัน”
“ท่านนายกฯ และรัฐบาลมีความเห็นใจและห่วงใยชาวสวนยางเสมอ โดยพยายามอย่าง เต็มที่ ที่จะแก้ปัญหาให้เกิดผลสำเร็จ บนพื้นฐานของความเป็นจริง ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งตัวแทนจากทุกฝ่าย ทั้งพี่น้องเกษตรกร กลุ่มผู้ซื้อยาง เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือจนได้แนวทางที่ชัดเจนไปแล้ว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ม.ค. 59 แต่อยากเรียกร้องให้เกษตรกรเข้าใจด้วยว่า ปัญหาราคายางตกต่ำนั้นเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกตกทำให้ยางสังเคราะห์ราคาต่ำ ฉุดให้ราคายางพาราตกต่ำไปด้วย ปริมาณผลผลิตที่ล้นตลาด ซึ่งเป็นผลจากการส่งเสริมให้มีการปลูกยาง เกินกว่าที่ควรจะเป็น ในอดีตที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มีพี่น้องชาวสวนยางหลายรายที่ปรับเปลี่ยนแนวคิด หันไปปลูกพืชชนิดอื่นหรือเลี้ยงสัตว์ เสริมจากการทำสวนยางเพียงอย่างเดียว จนได้ผล มีรายได้ เป็นที่น่าพอใจ จึงอยากให้ เกษตรกร ที่ยังประสบปัญหา นำกลับไปคิดและลงมือทำในแบบเดียวกัน รัฐบาลยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ส่วนมาตรการช่วยเหลือ เรื่องเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ เช่น การสร้างถนนหรือทำพื้นสนามกีฬานั้น พยายามเร่งดำเนินการอยู่แล้ว แต่ การก่อสร้างมีกระบวนและขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา
พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอความร่วมมือพี่น้องชาวสวนยาง ไม่ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยยืนยันว่าจะเร่งบรรเทาความเดือดร้อน ทั้งการควบคุมราคาไม่ให้ต่ำลงไป กว่านี้ และหาโอกาสปรับราคาให้สูงขึ้น ในช่วงเวลาที่เหมาะสม พร้อมกับแบ่งสัดส่วน การรับซื้อยางจากพี่น้องเกษตรกร ให้กับกลุ่มผู้ซื้อยางทุกราย รองรับผลผลิตทั้งหมดประมาณ 8 แสนตัน ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนก่อนถึงฤดูปิดกรีดและขับเคลื่อนมาตรการสำคัญ 16 โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป
---------------------------
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th