วันนี้(14 ธันวาคม 2558) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษ “ครึ่งทางทศวรรษ กับ การเดินหน้าประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยทางถนน” ในงานสัมมนาระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 12 ว่า ประเทศไทยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาระบบข้อมูลการบาดเจ็บ ยกระดับระบบการแพทย์ฉุกเฉินหน่วยกู้ชีพทั้งของโรงพยาบาล และมูลนิธิอาสาสมัครต่างๆ ให้มีมาตรฐานด้านการช่วยเหลือดูแลรักษา สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ในระดับหนึ่ง ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นที่ศึกษาดูงานของประเทศต่างๆ
อย่างไรก็ตามสถานการณ์การความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนของไทยมีความรุนแรงขึ้น ในช่วงเทศกาลที่ผ่านมาพบว่าร้อยละ 59 ของผู้บาดเจ็บรุนแรง เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ สาเหตุจากขับรถเร็ว ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย และมีจุดเสี่ยง ทั้งต้นไม้ ป้าย เสาไฟข้างทาง เป็นต้น ข้อมูลจากใบมรณบัตรปี2557 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูง 15,045 คน โดยทุกวันมี 40 ครอบครัวต้องสูญเสียสมาชิกและอีก 15 ครอบครัวต้องมีภาระเลี้ยงดูผู้พิการ โดย 1 ใน 3 ผู้เสียชีวิตหรือพิการเป็นกำลังหลักครอบครัว สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ 2.3 แสนล้านบาท
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนสามารถป้องกันได้ มีเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยป้องกันปัญหาคือ การสร้างระบบจัดการที่เข้มแข็ง เอาจริงเอาจัง ควบคู่ไปกับการสร้างวินัยและสำนึกความปลอดภัยของคนในชาติ ตั้งแต่เด็กและเยาวชน เพื่อสร้าง“การบริหารจัดการที่เข้มแข็ง”และ“เดินหน้าประเทศไทยไปสู่ความปลอดภัยทางถนน” ตามเป้าหมายสากลและที่รัฐบาลกำหนด กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ความปลอดภัยทางถนน เป็นนโยบายสำคัญและเร่งด่วนในปี 2559 วางแผนการดำเนินงานเชิงรุกตลอดทั้งปี 4 ด้าน ดังนี้ 1.ยกระดับการจัดการข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิต เพื่อชี้ขนาดปัญหาได้ครอบคลุม โดยเชื่อมข้อมูลตายจาก 3 ฐานข้อมูล ได้แก่ ใบมรณบัตร ประกันภัย และ ตำรวจ วิเคราะห์สาเหตุการบาดเจ็บและการเสียชีวิต ให้ทราบปัจจัยเสี่ยง ทั้งจุดเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยง
2.พัฒนาระบบบริหารจัดการในทุกระดับ ส่วนกลาง/ เขตสุขภาพ/จังหวัด มีศูนย์ปฏิบัติการคอยติดตามปัญหาใกล้ชิด สังเคราะห์เชิงนโยบายทุกเดือน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาได้ทันสถานการณ์ โดยในพื้นที่เป็นจุดจัดการสำคัญ เพราะอยู่ใกล้ชิดปัญหา เน้นทำงานเชิงรุก ใช้กลไกระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ นำข้อมูลมาวิเคราะห์จุดเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง นำมาวางแผนแก้ปัญหา 3.สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการ “ป้องกันความเสี่ยงหลัก หาจุดเสี่ยงจุดอันตรายในพื้นที่อย่างน้อยจังหวัดละอย่างน้อย 5 จุดทุก 3 เดือน สร้างความตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสมแต่ละพื้นที่
4.พัฒนาการรักษาพยาบาล เพิ่มคุณภาพห้องฉุกเฉิน เปิดช่องทางด่วนรองรับผู้บาดเจ็บ เพิ่มคุณภาพงานการแพทย์ฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุให้ได้มาตรฐานระดับสากล นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ผลักดันให้มีด่านชุมชน และมาตรการองค์กร ด้านความปลอดภัยทางถนน
****************** 14 ธันวาคม 2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th