ในวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมเรเนสซองส์ ราชประสงค์ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร. อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานร่วมกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยได้รับการประสานความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (วพ.) กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และได้รับเกียรติจากผู้แทนองค์กรต่างประเทศที่ให้การสนับสนุน และมีความสนใจในการเข้าร่วมประชุมฯ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในครั้งนี้ ได้แก่ สถาบันมาตรวิทยาแห่งสหพัธ์สาธารณรัฐเยอรมนี Physikalisch -Technische Bundesanstalt (PTB) ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น The Japan International Cooperation Agency (JICA) National Metrology Institute of Japan ( NMIJ ) ประเทศญี่ปุ่น และ National Metrology Laboratory (NML), Industrial Technology Development Institute (ITDI), the Philippines (TBC) ประเทศฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการผลักดันให้มีการหารือระหว่างประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน ในการร่างแผนบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพแห่งชาติ (NQI) เพื่อใช้เป็นแผนที่นำทาง ร่างแผนปฏิบัติงานด้านมาตรวิทยาของอาเซียน รองรับวิสัยทัศน์ เตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2559 อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านมาตรวิทยา และสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มประเทศสมาชิกอีกด้วย
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา การรวมตัวกันเป็นเขตเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อสถานะทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ของโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อน มาตรการพื้นฐานของการรวมตัวเป็นเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค คือการกำจัดอุปสรรคทางการค้า ซึ่งมีทั้งอุปสรรคเชิงภาษีและไม่ใช่เชิงภาษี ผลจากการเจรจาข้อตกลงการค้า GATT และ WTO ช่วยลดอุปสรรคทางการค้าเชิงภาษีอย่างมีนัยยะ ในขณะที่อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่เชิงภาษีกลับทวีความสำคัญเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุปสรรคทางการค้าเชิงเทคนิค (Technical Barrier to Trade หรือ TBT) ในรูปของมาตรฐานด้านต่างๆ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI) จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานแห่งรัฐที่สำคัญ และจำเป็นในการเอาชนะอุปสรรคทางการค้าเชิงเทคนิคดังกล่าว
วท.เล็งเห็นถึงศักยภาพที่เกิดจากการผนึกกำลังร่วมกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีผู้บริโภคมากกว่า 600 ล้านคน อีกทั้งยังมีทรัพยากร และวัตถุดิบที่หลากหลายรวมถึงแรงงานเป็นจำนวนมาก สิ่งจูงใจสำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการจากภายนอกอาเซียนสนใจมาลงทุนในภูมิภาคนี้ก็คือ การที่อาเซียนจะเป็นตลาดการค้าและฐานการผลิตเดียวกันที่มีประสิทธิภาพ นั่นคือสินค้าที่ผลิตในประเทศสมาชิกหนึ่งสามารถเคลื่อนย้ายไปยังประเทศสมาชิกอื่นในประชาคมได้ โดยไม่มีอุปสรรคด้านภาษีและอุปสรรคที่ไม่ใช่ทางภาษี ดังนั้นสินค้าจะไม่ถูกตรวจสอบทางเทคนิคซ้ำซ้อนเมื่อเคลื่อนย้ายภายในประชาคม และเงื่อนไขดังกล่าวจะเป็นจริงได้ ต่อเมื่อประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพที่ได้รับการยอมรับตามข้อตกลงร่วมกัน ทั้งในระดับอาเซียนและในระดับระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยมีองค์ประกอบของโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพค่อนข้างครบถ้วนและเข้มแข็ง แต่องค์ประกอบของโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพดังกล่าวยังขาดการประสานความร่วมมือและยังไม่มีกรอบการทำงานร่วมกัน หากประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาการบูรณาการดังกล่าวนี้ได้ เราจะมีโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนผันบทบาทสู่การเป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยังไม่มีความพร้อมอีกด้วย
ผู้เขียนข่าว/ผู้ประสานงาน นางสาวกล่องเพชร จันทรโคตร /นายประสิทธิ์ บุปผาวรรณา
เบอร์โทรศัพท์ 02 577 5100 ต่อ 4226 -7 เบอร์แฟกซ์ 02 577 2823 e-mail: pr@nimt.or.th
เผยแพร่ข่าว : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ
ถ่ายภาพและวีดิโอ : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์,นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313
ที่มา: http://www.thaigov.go.th