ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงไอซีทีเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำกรอบแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Thailand) ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจและความเท่าเทียมทางสังคม ซึ่งหมายถึงการเปิดใจยอมรับและหาโอกาสในการส่งเสริมให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ วิธีการใหม่ กระบวนการใหม่ สินค้าใหม่ รูปแบบการบริการใหม่ โมเดลทางธุรกิจใหม่ หรือการก้าวสู่กลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายหลัก 4 ด้าน คือ 1.ด้านเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศ 2.ด้านสังคม ด้วยการสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียมเพื่อสร้างสังคมคุณภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกกลุ่ม 3.ด้านการพัฒนากระบวนการทำงานและบริการภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ และ 4.ด้านการพัฒนาทุนมนุษย์สำหรับโลกยุคดิจิทัล
ทั้งนี้ กระทรวงไอซีทีได้ดำเนินการเพื่อจัดทำแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2559-2563 โดยได้ทำการศึกษา จัดทำรายละเอียด ยกร่างวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และประเด็นยุทธศาสตร์ภายใต้แผนฯ ดังกล่าว จำนวน 6 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Hard Infrastructure) 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน (Soft Infrastructure) 3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการ (Service Infrastructure) 4.การส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ (Digital Economy Accelerator) 5.การส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อสังคม (Digital Society) และ 6.การพัฒนากำลังคนดิจิทัล (Digital Workforce) ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุม Focus Group เพื่อวางกรอบแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ในประเด็นยุทธศาสตร์ จำนวน 5 ด้านแล้ว และมีกำหนดจัดประชุม Focus Group ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 6 ภายในเดือนธันวาคม 2558 นี้ คาดว่าแผนฯ ดังกล่าวจะแล้วเสร็จและนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้ได้ประมาณเดือนมกราคม 2559
“ตัวอย่างโครงการที่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของกระทรวงไอซีที เช่น การพัฒนาความเชื่อมโยงโครงข่ายการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชนด้วยบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) พร้อม Free Wi-Fi ครอบคลุมทั้งสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบล (กศน.ตำบล) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) รวมถึงศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนของกระทรวงไอซีที ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินงานเพื่อยกระดับเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน โดยในช่วงแรกจะนำร่อง 600 แห่ง จากกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเป็นสื่อกลางระหว่างประชาชนกับภาครัฐ เป็นช่องทางการรับบริการอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ให้บริการพร้อมคำแนะนำการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพ สนับสนุนให้ศูนย์ดิจิทัลชุมชนดำเนินงานในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) มีการทำงานเชิงรุก ประชาชนสามารถสร้างรายได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การซื้อขายสินค้าออนไลน์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน และสร้างงานลักษณะใหม่ๆ ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างรายได้แล้ว การเรียนรู้ตลอดชีวิตก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่เป็นการเร่งด่วนเพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ” ดร.อุตตม กล่าว
ที่มา: http://www.thaigov.go.th