ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559

ข่าวทั่วไป Thursday December 17, 2015 15:54 —สำนักโฆษก

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2558) จัดเก็บได้ 345,243 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6,077 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.0) โดยการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บภาษีเบียร์สูงกว่าประมาณการ 2,965 2,467 และ 2,094 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.5 9.2 และ 15.5 ตามลำดับ ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2558 กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 4.0 และ 3.2 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเบียร์และอากรขาเข้าได้สูงกว่าเป้าหมายเป็น สำคัญ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า “ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2558) จัดเก็บได้ 345,243 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6,077 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.0) โดยการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บภาษีเบียร์สูงกว่าประมาณการ 2,965 2,467 และ 2,094 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.5 9.2 และ 15.5 ตามลำดับ ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2558 กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 4.0 และ 3.2 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเบียร์และอากรขาเข้าได้สูงกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ”

นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 สูงกว่าเป้าหมาย เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นและการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจเป็นสำคัญ ประกอบกับการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรใกล้เคียงกับเป้าหมาย นอกจากนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกัน

ปีที่แล้ว สะท้อนถึงปัจจัยบวกที่จะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ต่อไป”

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเดือนพฤศจิกายน 2558 และในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2558)

ในเดือนพฤศจิกายน 2558 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 179,356 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,708 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.9 ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2558) รายได้รัฐบาลสุทธิมีจำนวน 345,243 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,077 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.8 และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.0

1. เดือนพฤศจิกายน 2558

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 179,356 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,708 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.9 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.0) โดยการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 8,034 ล้านบาท หรือร้อยละ 689.0 การจัดเก็บภาษีเบียร์สูงกว่าประมาณการ 1,546 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.2 เนื่องจากการเร่งชำระภาษีจากที่มีการชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์สูงกว่าประมาณการ 653 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.3 จากการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป และอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 246 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.5

2. ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2558)

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 345,243 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,077 ล้านบาทหรือร้อยละ 1.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.0) โดยการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ 2,965 และ 2,467 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.5 และ 9.2 ตามลำดับ ขณะที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ใกล้เคียงกับเป้าหมาย และ กรมสรรพากรและกรมศุลกากรจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการ 8,595 และ 480 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.6 และ 2.4 ตามลำดับ

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 231,007 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,595 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.6 โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่

  • ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 6,212 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.3) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด. 51) และภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภ.ง.ด. 53) จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 3,396 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.7) ซึ่งเป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าต่ำกว่าเป้าหมาย 1,841 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.8 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 9.8) เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง และมูลค่านำเข้าที่ยังคงหดตัวเป็นสำคัญ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1,554 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.2 แต่ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 4.5 สะท้อนถึงการบริโภคในประเทศที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 80,544 ล้านบาท ใกล้เคียงกับประมาณการ (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 21.1) เป็นผลจากภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,094 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.3)

อย่างไรก็ดี ภาษียาสูบจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,129 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 22.9) เนื่องจากผู้บริโภคได้เปลี่ยนมาบริโภคยาสูบราคาถูกเพิ่มมากขึ้น และภาษีสุราจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 857 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.6)

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 19,920 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 480 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.6) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 526 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6 ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทในเดือนตุลาคม 2559 หดตัวร้อยละ 18.2 และ 9.0 ตามลำดับ

2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 29,194 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,467 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 30.8) สาเหตุสำคัญมาจากการนำส่งเงินปันผลจากกองทุนรวมวายุภักษ์จำนวน 3,657 ล้านบาท โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ธนาคาร

เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 31,260 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,965 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.1) เนื่องจากการนำส่งเงินจากการยกเลิกโครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของข้าราชการส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดินส่วนหนึ่ง และการนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินจากกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นรายได้แผ่นดิน

สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 451 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 119 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.4) โดยรายได้จากที่ราชพัสดุจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ

2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 40,200 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 9,437ล้านบาท หรือร้อยละ 17.3 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 35,000 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 9,400 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.2 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 5,200 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 37 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7

2.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 1,782 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 207 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.1

2.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 2,515 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 343 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.02.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 2,185 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 160 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.8

สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3573

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ