นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดการสัมมนาเรื่อง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2558 และแนวโน้มปี 2559 "เกษตรบริบทใหม่ ก้าวไกลด้วยนวัตกรรม" ว่า วัตถุประสงค์ของการสัมมนาในครั้งนี้เพื่อเสนอรายงานการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2558 และแนวโน้มปี 2559 เพื่อให้ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงสถานการณ์ ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อภาคการเกษตรที่ผ่านมาและที่กำลังจะมาถึง จะได้เตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งได้เชิญนักวิชาการ ตัวแทนเกษตรกร เข้าร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดมุมมองเกี่ยวกับการปรับตัวทางการเกษตร เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ และเกษตรบริบทใหม่ที่จะนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาช่วยในการเพิ่มผลผลิตโดยภาพรวมเศรษฐกิจในภาคการเกษตร ปี 2558 ลดลง ร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยเฉพาะสาขาพืช สาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตรหดตัวลง ขณะที่สาขาปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทั่วโลก ส่งผลให้เกิดภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในประเทศไทย ตั้งแต่ปลายปี 2557 ถึง เมษายน 2558 ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมโลกมีความแปรปรวนในหลายด้าน จึงส่งผลกระทบต่อการเกษตร ได้แก่ ปริมาณผลผลิตลดลงราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขึ้น เป็นต้น
นายธีรภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ โดยพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในด้านปฏิรูปภาคการเกษตรเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะเน้นเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง และในปี 2559 กำหนดให้เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิต โดยวางแผนงานครอบคลุมตั้งแต่การเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น ลดปัจจัยการผลิต เพิ่มช่องทางการตลาด และเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงนโยบายสนับสนุนการเกษตรด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น การเผยแพร่องค์ความรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) กว่า 882 ศูนย์ ทั่วประเทศ การบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning) เป็นต้น อีกทั้งยังร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการแก้ไขปัญหาด้านราคาและตลาดสินค้เกษตรอย่างครบวงจรอีกด้วย
ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 เนื่องจากสถานการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัว มีการลงทุนภาคการเกษตรมากขึ้น เช่น โครงการ Motor pool การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร สถานการณ์ดินฟ้าอากาศจะไม่รุนแรงกว่าปีนี้ รวมทั้งราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก อีกทั้งรัฐบาลมีการกำหนดนโยบายรองรับด้านการเกษตร ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ การแก้ปัญหาIUU เป็นต้น คาดว่าจะส่งผลดีต่อภาคการเกษตรไทยในทางบวก แต่ยังต้องระวังเรื่องภาวะฝนทิ้งช่วงในต้นฤดูเพาะปลูกปี 2559 และสถานการณ์เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยอีกด้วย นายธีรภัทร กล่าว
.........................
กลุ่มโฆษกและวิเคราะห์ข่าว กองเกษตรสารนิเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โทร 02-2810859 แฟกซ์ 02-2822871
moacnews@gmail.com
www.moac.go.th
www.facebook.com/kasetthai
ที่มา: http://www.thaigov.go.th