หม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษในการประชุมสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2558 ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) จ.นนทบุรี โดยมีอธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์, เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์, ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย และคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ทั่วประเทศ เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย
หม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการนโยบายด้านการอุดมศึกษาที่สำคัญหลายด้าน จึงขอกล่าวถึงนโยบายบางเรื่องที่สำคัญกับการอุดมศึกษา ดังนี้
การยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในทุกหลักสูตร เป็นนโยบายหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานจำนวนมากที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้กับสถานศึกษาของไทย อาทิ สถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หน่วยงานเอกชนของไทย เป็นต้น เพื่อต้องการสร้างมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาอังกฤษขึ้นมาใหม่ ด้วยการนำกรอบมาตรฐานการประเมินความสามารถทางภาษาจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ CEFR (Common European Framework of Reference for Languages) มาปรับใช้ ทำให้ครูผู้สอนต้องปรับรูปแบบและสื่อการสอนให้ตอบโจทย์ CEFR และในอนาคตจะมีการจัดสอบภาษาอังกฤษก่อนจบการศึกษาปริญญาตรี โดยนำไประบุในผลการทดสอบในใบรับรองผลการศึกษา (Transcript) ด้วย อีกทั้งยังมุ่งเน้นพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษด้านการฟังและทักษะการพูด (Functional English) เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาและประชาชนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น
ในส่วนของการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของครูผู้สอน กระทรวงศึกษาธิการได้รับความร่วมมือจากสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย โดยโรงเรียนนานาชาติในกรุงเทพมหานคร จะรับนักศึกษาชั้นปีที่ 5 ของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เข้าไปทำหน้าที่ผู้ช่วยครู (Teacher Assistant) เพื่อฝึกประสบการณ์ด้านการสอนภาษาอังกฤษ ส่วนครูผู้สอนภาษาอังกฤษชาวไทยที่ทำการสอนอยู่แล้วนั้นจะทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเคมบริจด์ จากประเทศอังกฤษ มาช่วยวางระบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนของประเทศไทย โดยจะมีครูต่างชาติมาช่วยเป็นโค้ชให้ครูไทยเวลาจัดการสอนในห้องเรียนซึ่งจะทำให้การเรียนภาษาอังกฤษของเด็กไทยเป็นระบบมากขึ้น
นอกเหนือจากจะมีการอบรมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแบบเข้มแล้ว ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ โดยขณะนี้ได้ทำการพัฒนาแอพพลิเคชันเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เพื่อช่วยฝึกฝนด้านการสื่อสารและการออกเสียงภาษาอังกฤษของนักเรียนให้ถูกต้องเหมือนเจ้าของภาษา ซึ่งได้นำมาทดลองใช้ในโรงเรียนของไทยแล้ว ถือเป็นสื่อการเรียนการสอนที่สำคัญที่ช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ นอกจากนี้ยังมีการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เช่น การเรียนการสอนผ่าน Skype และระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) เพื่อให้ความรู้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,000 โรงเรียน
การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาคิดวิเคราะห์และบูรณาการได้ เนื่องจากรูปแบบการเรียนแบบเดิมที่นักเรียนนั่งฟังครูผู้สอนอย่างเดียวใช้ไม่ได้ผลแล้ว จึงต้องปรับวิธีการเรียนการสอนใหม่ให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นในห้องเรียนมากขึ้น รู้จักคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง รวมทั้งนำสิ่งที่เรียนในห้องเรียนมาบูรณาการได้
การเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) และการพัฒนานวัตกรรม (Innovation) เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และกระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการส่งเสริมและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาด้วยการจัดการเรียนการสอนด้านวิชาชีพไปพร้อมๆ กับเนื้อหาด้านวิชาการ เพื่อให้เด็กสามารถประกอบอาชีพและทำธุรกิจด้วยตัวเองได้ แม้จะไม่ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี
เรื่องธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ปัจจุบันพบว่ามีกรณีร้องเรียนในสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมาก จึงขอให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งช่วยกันควบคุมและดูแลประเด็นนี้อย่างเคร่งครัดมากขึ้น เพื่อให้ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาลดน้อยลงหรือหมดไป
ถ่ายภาพ : อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
หม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล กล่าวด้วยว่า ในการประชุมครั้งนี้ หากที่ประชุมพบปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในด้านใดก็ตาม ขอให้รวบรวมและเสนอแนวทางการแก้ปัญหาโดยตรงมาที่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อร่วมมือกันและดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th