สดร. เผยภาพดาวหางแคทาลินาสู่สายตาคนไทย

ข่าวทั่วไป Monday December 21, 2015 15:35 —สำนักโฆษก

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพความสวยงามของดาวหางแคทาลินาสู่สายตาคนไทย เห็นได้ในช่วงนี้ยาวไปจนถึงสิ้นปี 2558 เวลาเช้ามืด ใกล้ขอบฟ้าทางทิศตะวันออก หากใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ช่วยในการสังเกต จะเห็นชัดเจนขึ้น
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ช่วงนี้หากใครตื่นเช้าประมาณตีห้า สามารถใช้กล้องส่องทางไกลดูดาวหางแคทาลินา (C/2013 US10 Catalina) ปรากฏใกล้ขอบฟ้าทางทิศตะวันออก อยู่ระหว่างกลุ่มดาวหญิงสาวกับกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ ช่วงนี้ดาวหางแคทาลินาจะมีความสว่างปรากฏที่ระดับแมกนิจูด 6 (การวัดค่าความสว่างวัตถุท้องฟ้าใช้หน่วยแมกนิจูด (Magnitude) ค่ายิ่งต่ำยิ่งสว่างมาก ตาของมนุษย์สามารถมองเห็นวัตถุสว่างน้อยที่สุดประมาณแมกนิจูด 6) นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวหางแคทาลินาจะมีความสว่างเพิ่มขึ้นถึงแมกนิจูด 3 และในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ดาวหางแคทาลินาจะเคลื่อนที่มาเคียงข้างดาวดวงแก้ว (Arcturus) ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ยังสามารถสังเกตเห็นดาวเคราะห์ได้อีกสามดวงคือ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดีอีกด้วย

“สำหรับภาพดาวหางแคทาลินาภาพนี้ ผมและทีมงาน ได้บันทึกเมื่อเช้ามืดของวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ใช้เวลาบันทึกภาพ 24 นาที สามารถเก็บรายละเอียดส่วนของหัวดาวหางในชั้นโคมา ปรากฏแสงเรืองสีเขียวของไซยาโนเจน และโมเลกุลของคาร์บอน ปรากฏการณ์ดังกล่าว เรียกว่า “Resonance Fluorescence” จากภาพเราสามารถสังเกตเห็นหางของดาวหาง 2 หาง มีทิศทางแยกจากกันอย่างชัดเจน ประกอบด้วย หางฝุ่น (Dust Tail) มีสีออกไปทางโทนขาวเหลือง รูปร่างค่อนข้างหนา ก่อตัวจากอนุภาคฝุ่นที่พ่นออกจากนิวเคลียสอยู่ในชั้นโคมา แล้วถูกผลักออกไปโดยความดันจากการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ และหางไอออน (Ion Tail) หรือหางแก๊ส มีสีฟ้า ถูกลมสุริยะพัดออกไปตามแนวตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ไอออนส่วนใหญ่จะเป็นประจุบวกของคาร์บอนมอนอกไซด์ที่มีคุณสมบัติกระเจิงแสงสีฟ้าได้ดีกว่าแสงสีแดง ทำให้เมื่อสังเกตจากตาของมนุษย์แล้วหางไอออนจะเป็นสีฟ้า” นายศุภฤกษ์กล่าวปิดท้าย

ดาวหางแคทาลินา (C/2013 US10 Catalina) ถูกค้นพบด้วยกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวแคทาลินาสกายเซอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมาดาวหางดวงนี้ปรากฏอยู่บนซีกฟ้าใต้มาตลอด แต่ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม 2558 ที่ผ่านมาดาวหางดวงนี้มีความสว่างเพิ่มขึ้น มีค่าความสว่างประมาณแมกนิจูด 7 และเคลื่อนที่เข้าไปในตำแหน่งใกล้ขั้วฟ้าใต้ ทำให้ดาวหางดวงนี้ไม่ตกลับขอบฟ้ากลายเป็นดาวหางค้างฟ้า ปรากฏให้ผู้คนในซีกโลกใต้สามารถสังเกตเห็นได้ตลอดทั้งคืน จนกระทั่งปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดาวหางดวงนี้ได้เพิ่มความสว่างจนสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า (แมกนิจูด 6) เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมาดาวหางแคทาลินาได้โคจรผ่านตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ปรากฏในท้องฟ้าซีกเหนือและมีความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะมีค่าความสว่างมากที่สุดถึงประมาณแมกนิจูด 3

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โทร. 053-225569 ต่อ 210 , 081-8854353 โทรสาร 053-225524

E-mail: pr@narit.or.th Website : www.narit.or.th

Facebook : www.facebook.com/NARITpage

Twitter : @N_Earth , Instagram : @NongEarthNARIT

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ