วันนี้ (11 ม.ค.59) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2559 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ภายหลังการประชุม นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน ร่วมกันแถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ที่ประชุม กนช. ได้หารือกันในประเด็นหลักที่สำคัญคือ เรื่องความคืบหน้าของผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์น้ำ 6 ยุทธศาสตร์ 12 กิจกรรม และการเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะขึ้นในปีนี้ ทั้งปริมาณน้ำที่มีอยู่ ความต้องการการใช้น้ำ โดยลงรายละเอียดตามลักษณะพื้นที่ทั้ง 928 อำเภอและ 50 เขตของกรุงเทพมหานคร พิจารณาพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ รวมทั้งวางมาตรการระยะยาวว่าเขื่อนที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และอีกหลายเขื่อนมีช่องว่างของเขื่อนที่ยังสามารถเติมน้ำในเขื่อนได้อีก โดยเขื่อนภูมิพลมีช่องว่างเติมน้ำได้กว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งจะสามารถหาแนวทางผันน้ำจากที่ต่าง ๆ มาเติมเพื่อให้ใช้การได้ รวมถึงในลุ่มน้ำโขง ชี มูล ด้วย
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกล่าวถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบันในพื้นที่ทั้งหมดที่มีอยู่ เมื่อนำมาแยกย่อยหลายอำเภอจะเห็นได้ชัดเจนว่า มีปริมาณน้ำอยู่ที่อำเภอหนึ่ง หรือจังหวัดหนึ่ง หรืออยู่ตรงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมาก แต่ความต้องการน้ำอยู่อีกที่หนึ่ง ทำให้เกิดการขลาดแคลนน้ำทั้ง ๆ ที่มีน้ำอยู่แต่อยู่ห่างไกลไม่สามารถเอาน้ำมาได้ ดังนั้นในอนาคตต้องมีการเสริมระบบกระจายน้ำออกไปในพื้นที่ย่อยทั้งหมด ซึ่งพื้นที่อำเภอที่ขาดแคลนน้ำแบ่งออกเป็นเขตชลประทาน 59 อำเภอ นอกเขตชลประทาน 410 อำเภอ แต่จะมีส่วนที่ซ้อนทับกันคือทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานที่ขาดแคลนน้ำ 79 อำเภอ รวมอำเภอที่ขาดแคลนน้ำในปัจจุบัน 548 อำเภอหรือคิดเป็น 59% จากทั้งหมด 978 อำเภอ โดยในส่วนนี้จะมีโครงการต่าง ๆ ที่เข้าช่วยเหลือ ทั้งโครงการในส่วนของเขตพื้นที่ชลประทานที่กรมชลประทานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่รับผิดชอบเขื่อนขนาดใหญ่ จะกำหนดมาตรการการระบายน้ำ เพื่อให้ใช้น้ำได้จนถึงสิ้นฤดูแล้งเดือนพฤษภาคม 59 นอกจากนี้ จะสนับสนุนการเจาะเบาะบาดาลเพิ่มเติมในบางอำเภอที่ขาดแคลนน้ำ หรือการสูบทอนน้ำจากพื้นที่ที่มีอยู่มาเพิ่มเติม
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำยังกล่าวถึงเรื่องการเติมน้ำในเขื่อนว่า ปัจจุบัน กนช. มีโครงการที่มีศักยภาพดำเนินการเติมน้ำในเขื่อนทั้งหมด รวมถึงผันน้ำจากในประเทศและต่างประเทศรวม 15 โครงการ โดยที่ประชุมได้พิจารณาในส่วนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งภาคเหนือที่เขื่อนภูมิพล สามารถเติมน้ำเป็นระยะ ๆ ได้ทั้งหมด 4,000 ล้าน ลบ.ม. โดยระยะแรกจะเป็นการผันน้ำในประเทศคือน้ำยวมเข้ามาใช้เติมได้ประมาณ 2,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทานได้ศึกษาข้อมูลร่วมกับต่างประเทศมากว่า 10 ปีแล้ว มีรายงานการศึกษาความเหมาะสมและมีแบบเบื้องต้น ที่ขณะนี้ได้นำมาปรับทบทวนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันและปรับราคาต่าง ๆ ให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะดำเนินการได้เพราะเป็นการสูบน้ำในประเทศ ไม่จำเป็นต้องประสานกับประเทศเมียนมาร์ โดยจะสามารถช่วยเพิ่มน้ำในลุ่มน้ำภาคกลางได้ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้พิจารณาการใช้น้ำของลุ่มน้ำห้วยหลวงที่ติดกับแม่น้ำโขง ซึ่งมีการสร้างประตูน้ำสามารถดึงน้ำเข้ามาใช้ได้ ในระยะแรกจะสามารถเปิดพื้นที่ชลประทานและอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนบริเวณนั้นได้ สามารถดำเนินการได้ทันทีในระยะ 1 ปี 6 เดือนตามมาตรการเร่งด่วนปี 59-60 ทั้งนี้ หากเป็นการใช้น้ำช่วงฤดูฝนสามารถใช้ได้ แต่น้ำฤดูแล้งต้องมีข้อตกลงกันระหว่างประเทศ ที่ประชุมจึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกระทรวงการต่างประเทศหารือร่วมกันในส่วนนี้ เนื่องจากการใช้น้ำจากลุ่มน้ำโขงตอนล่างเกี่ยวข้องกับหลายประเทศทั้งเมียนมาร์ ลาว กัมพูชาและไทย
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในปัจจุบันปริมาณน้ำมีน้อย ไม่ว่าจะเป็นน้ำในเขื่อน และฝนก็ไม่ตกแล้วในจุดหลัก ๆ รวมถึงน้ำในลำน้ำก็มีน้อยกว่าปกติมาก ขณะเดียวกันน้ำทะเลก็รุกคืบขึ้นสูง เพราะฉะนั้นปริมาณน้ำที่มีอยู่ปัจจุบันนี้จึงจะสงวนไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ ดังนั้น เพื่อให้ควบคุมส่วนนี้ได้ ทางหน่วยงานจึงร่วมกันกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำ จัดสรรน้ำให้ชัดเจนเป็นกรณีไปคือ 1. กรณีสถานการณ์น้ำปัจจุบันใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ควบคุมได้ จะต้องงดสูบน้ำเพื่อการเกษตร เปิดรับน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภค เป็นครั้งคราว เป็นต้น 2. กรณีที่น้ำใช้การได้มีปริมาณต่ำกว่าที่คาดการณ์ จะต้องปรับลดการใช้น้ำและควบคุมการจัดสรรน้ำ แต่หากสามารถควบคุมสถานการณ์น้ำได้เหนือกว่าที่คาดการณ์ไว้โดยมีปริมาณน้ำเหลืออยู่ ก็สามารถเพิ่มการระบายน้ำเท่าที่จำเป็นได้
“ที่สำคัญส่วนหนึ่งคือรัฐบาลรณรงค์ให้ประหยัดน้ำโดยเฉพาะในส่วนของการประปานครหลวง (กปน.) เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ใช้น้ำปริมาณมากถึง 6,000,000 ลบ.ม.ต่อวัน ที่แบ่งเป็นการใช้น้ำของส่วนราชการ 19% อุตสาหกรรม 32% ภาคครัวเรือน 49% ฉะนั้นถ้าสามารถประหยัดน้ำภายใต้มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลขอความร่วมมือจากประชาชน ก็จะสามารถลดการใช้น้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้มาก จึงขอวิงวอนประชาชนช่วยลดการใช้น้ำตามมาตรการที่รัฐบาลได้สนับสนุนไป ซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์เป็นระยะ ทั้งนี้ หากมีการใช้น้ำตามที่กำหนดไว้ ยังไม่มีการปลูกข้าวนาปรังเพิ่มเติม ก็ยังไม่น่าเป็นห่วง” อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกล่าว
ด้าน อธิบดีกรมชลประทานกล่าวถึงปริมาณน้ำที่ใช้อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาขณะนี้ กรมชลประทานขอยืนยันว่ามีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะใช้ได้ตลอดฤดูแล้งนี้ และสามารถป้องกันความเสี่ยงระหว่างฤดูแล้งถึงฤดูฝนปี 59 ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ขอให้กรมชลประทานคอยตรวจสอบระวังค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน เพราะปีที่ผ่านมาเคยมีปัญหาค่าความเค็มของน้ำค่อนข้างสูงที่ปากคลองสำแล ซึ่งกรมชลประทานขอยืนยันว่าค่าความเค็มของน้ำในปากคลองสำแลขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 0.16 กรัมต่อลิตร และคาดว่าจะสามารถควบคุมได้ตลอดฤดูแล้งนี้ แต่ก็ต้องมีมาตรการดำเนินการในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมดเพื่อรักษาเสถียรภาพน้ำ เช่น ไม่ทำการเกษตรที่ใช้น้ำมาก สถานีสูบน้ำทั้ง 367 สถานีในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่างจะต้องหยุดสูบน้ำเพื่อทำการเกษตร สำหรับในลุ่มน้ำท่าจีน การควบคุมน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เดือนธันวาคม 58 ที่ผ่านมาสามารถคุมค่าความเค็มไว้ไม่เกิน 0.3 กรัมต่อลิตร โดยกรมชลประทานจะดูแลเป็นพิเศษ และมีมาตรการนำน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาระบาย ขณะที่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองทั้งหมดไม่มีแผนงดการส่งน้ำ โดยยังมีแผนส่งน้ำเพื่อทำการเกษตรพืชไร่เต็มพื้นที่ 900,000 ไร่ได้
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวด้วยว่าที่ประชุม กนช. ได้เห็นชอบในหลักการเรื่องการผันน้ำจากแม่น้ำยวม ลุ่มน้ำสาละวิน มาสู่เขื่อนภูมิพล โดยให้ชลประทานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกระทรวงมหาดไทย ไปดำเนินการศึกษานำน้ำจากแม่น้ำยวมซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำสาละวินเข้าสู่เขื่อนภูมิพล สำหรับในส่วนของลำน้ำโขง ชี มูล กรมชลประทานได้ทำการศึกษาเบื้องต้นไว้แล้วในเรื่องการนำน้ำจากแม่น้ำโขงบางส่วนมาใช้ผ่านประตูระบายน้ำห้วยหลวง โดยในระยะแรกจะพัฒนาพื้นที่ชลประทานให้เกิดได้ประมาณ 300,000 ไร่ ซึ่งน้ำจากห้วยหลวงจะมาสู่หนองหาน กุมภวาปี สามารถไปเติมอ่างเก็บน้ำลำปาว จ.กาฬสินธุ์ได้และส่วนหนึ่งจะลงมาเติมที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
สำหรับปริมาณน้ำล่าสุดของ 4 เขื่อนหลักคือเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวานนี้มีปริมาณน้ำรวม 3,726 ล้าน ลบ.ม.
----------------------------
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th