22 ธันวาคม 2558 ณ โรงแรมรติลานนา จ.เชียงใหม่ / รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการประชุมหารือรับฟังความต้องการการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยคลื่นวิทยุ (Radio Frequency : RF) ในหัวข้อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วย วทน. เพื่อช่วยแก้ปัญหาและยกระดับการผลิตข้าวไทยให้มีคุณภาพสามารถแข่งขันและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชนในเทคโนโลยีไทยที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถถ่ายทอดสู่ภาคธุรกิจทุกส่วน อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอย่างยั่งยืนต่อไป
รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการผลิตที่มีประสิทธิภาพ (Efficiency-Driven) มีจุดเด่นด้านคุณภาพแรงงานและราคาไม่สูง รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตมากขึ้น แต่ในอนาคตยังไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนได้ทางออกที่สำคัญคือ เร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven) คือการผลิตสินค้าหรือบริการที่มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์และมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อเป็นที่ต้องการในตลาด ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ในระยะยาว กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้ทำโครงการ “อุทยานวิทยาศาสตร์” ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางนโยบายและกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนภาคเอกชนในการลงทุนทำวิจัยและพัฒนา โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ธุรกิจ ผลักดันให้เอกชนมีการพัฒนางานวิจัยในภาคการผลิตในสัดส่วนเอกชนร้อยละ70 ต่อภาครัฐบาลร้อยละ 30 ซึ่งประโยชน์และความสำคัญของอุทยานวิทยาศาสตร์จะเป็นตัวกลางและกลไกสนับสนุนที่สำคัญในการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา ด้วยกลไกส่งเสริมต่างๆ
ข้าว ถือเป็นผลิตผลที่สำคัญของประเทศไทย จึงมีการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพข้าวไทยให้ดียิ่งขึ้นเพื่อรับกับการแข่งขันในตลาดโลก แต่ปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญต่อคุณภาพข้าวคือ ปัญหาด้านความชื้นและถูกแมลงทำลาย ทำให้เกิดปัญหาต่อการค้าขายและส่งออก โดยทั่วไปการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูมักจะใช้สารเคมี แต่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
โรงงานต้นแบบกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ (RF Technology Pilot Plant) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) ผ่านการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการขยายขนาดให้มีความพร้อมสำหรับการใช้งานในระดับอุตสาหกรรมที่กำลังการผลิต 2 ตันต่อชั่วโมง และสามารถให้บริการแก่ผู้ที่สนใจเทคโนโลยีดังกล่าว
หลักการทำงานจากการประยุกต์ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วงคลื่นความถี่วิทยุซึ่งมีความสามารถในการแทรกผ่านเข้าไปในชั้นโมเลกุลภายในเมล็ดข้าว ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนเป็นจำนวนล้านๆ ครั้งในเวลาหนึ่งวินาที ทำให้เกิดความร้อนสูงและลดความชื้นในระยะเวลาอันสั้น จากผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถยืนยันได้ว่าทั้งแมลงและไข่แมลง จะตายในสภาวะที่กล่าวมาข้างต้น โดยระบบหลักของเทคโนโลยีนี้สามารถนำไปเชื่อมกับกระบวนการสีข้าวในโรงงานอุตสาหกรรมปัจจุบันได้ ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ ดังนี้ 1) ระบบการให้ความร้อนเบื้องต้น หรือ Pre-Heat โดยข้าวจะถูกลำเลียงจากกกระบวนการเดิมของอุตสาหกรรมข้าว เข้าสู่ระบบการให้ความเบื้องต้นเพื่อปรับอุณหภูมิเล็กน้อย จากลมร้อนที่เกิดจากระบบการแลกเปลี่ยนความร้อนภายในระบบลดอุณหภูมิ ก่อนที่จะไหลอย่างช้าๆไปยังทางออก เพื่อเข้าสู่ระบบให้ความร้อนด้วยคลื่นวิทยุต่อไป 2) ห้องให้ความร้อนด้วยคลื่นวิทยุ หรือ RF Chamber หลังจากถูกปรับอุณหภูมิเบื้องต้นแล้วข้าวจะไหลเข้าสู่ห้องให้ความร้อน โดยมีคลื่นวิทยุที่ถูกส่งผ่านแผ่นอิเล็กโทรดประจุบวกไปยังแผ่นอิเล็กโทรดประจุลบที่ตั้งอยู่ในทิศทางตรงข้าม ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนและเสียดสีในชั้นโมเลกุลของข้าว ทำให้เกิดความร้อนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยคุมอุณหภูมิไว้ที่ 55 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 นาที อย่างไรก็ตามความร้อนที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดความชื้นและไอน้ำในระบบ ซึ่งภายในห้องให้ความร้อนจะมีระบบดูดความชื้นแบบสุญญากาศเพื่อป้องกันลดความชื่นของข้าว และ 3) ระบบลดอุณหภูมิ หรือ cooling โดยข้าวที่ผ่านการให้ความร้อนด้วยคลื่นวิทยุแล้วจะถูกลำเลียงผ่านเกลียวลำเลียงเข้าสู่ระบบลดอุณหภูมิ โดยการใช้ลมเย็นเป่าเพื่อลดอุณหภูมิอย่างช้าๆ และการแตกหักของข้าว ซึ่งความร้อนที่เกิดในข้าวจะถูกดูดกลับไปในระบบการให้ความเบื้องต้น ข้าวที่ออกจากระบบลดอุณหภูมิจะลอยตัวตามแรงลมที่เป่าผ่านรูตะแกรง เข้าสู่ทางออกเพื่อการบรรจุต่อไป
โรงงานต้นแบบเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาและยกระดับการผลิตข้าวของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันด้านคุณภาพและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศในการเป็นครัวโลกและอาหารปลอดภัย โรงงานต้นแบบจึงสามารถเป็นแกนหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ในระดับอุตสาหกรรมในประเทศ ส่งเสริมให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศและงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้
จุดเด่นเชิงเทคนิคของเทคโนโลยีที่ใช้กำจัดมอด คือ คลื่นความถี่วิทยุทำให้เกิดความร้อนสูงในระยะเวลาอันสั้น โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 2 ตันต่อชั่วโมง สามารถกำจัดแมลงและไข่แมลงศัตรูข้าวได้ถึง 80-98% กำจัดเชื้อราได้ถึง 20-40% ลดความชื้นในข้าวได้ 5-10% มีความปลอดภัยต่อคนและสิ่งแวดล้อมเนื่องจากเป็นคลื่นทั่วไปในอากาศ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
Facebook : sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313
ที่มา: http://www.thaigov.go.th