รายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2558 และผลการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐที่ดำเนินการโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ประจำเดือนตุลาคม 2558

ข่าวทั่วไป Thursday December 24, 2015 15:38 —สำนักโฆษก

นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้แถลงข่าวการดำเนินงานของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ดังนี้

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ 31 ตุลาคม 2558 มีจำนวน 5,867,372.68 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.80 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นสุทธิ 84,049.49 ล้านบาท ในการนี้ สบน. ได้ปรับตัวเลขหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 จากร้อยละ 42.99 ตามที่ได้แถลงข่าวไปในเดือนพฤศจิกายน เป็นร้อยละ 43.26 เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ทำให้ GDP จริงของปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เท่ากับ 13,368.45 พันล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงของหนี้สาธารณะมีรายละเอียด ดังนี้

? หนี้ของรัฐบาล มีหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น 98,510.08 ล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก

• การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 99,094.26 ล้านบาท

• การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 8,622.79 ล้านบาท มีรายการที่สำคัญ ดังนี้

1. การกู้เงินเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ จำนวน 2,072.02 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 1,682.66 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีเขียว และสายสีน้ำเงิน และการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 389.36 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย 8 สายทาง และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง

2. การกู้เงินบาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ จำนวน 6,353 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) จำนวน 353 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน:มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 จำนวน 6,000 ล้านบาท

3. การเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ จำนวน 140 ล้านบาท

• การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 9,868.06 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • การชำระหนี้ต้นเงินกู้ที่รัฐบาลให้กู้ต่อ จำนวน 7,304.78 ล้านบาท
  • การชำระหนี้ต้นเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังค้ำประกันจำนวน 516.67 ล้านบาท
  • การชำระหนี้ต่างประเทศ จำนวน 327.78 ล้านบาท
  • การชำระดอกเบี้ย จำนวน 1,718.83 ล้านบาท แบ่งเป็น ดอกเบี้ยหนี้ในประเทศ 1,606.54 ล้านบาท และดอกเบี้ยหนี้ต่างประเทศ 112.29 ล้านบาท

• การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อชำระดอกเบี้ย จำนวน 2,336.38 ล้านบาท

• ผลของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้หนี้ต่างประเทศสกุลต่างๆ ลดลง 1,057.74 ล้านบาท

? หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน มีหนี้คงค้างลดลง 10,311.50 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงเกิดจาก

• ผลของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้หนี้ต่างประเทศสกุลต่างๆ ลดลง 6,249.83 ล้านบาท

• การชำระหนี้เงินกู้มากกว่าการเบิกจ่ายเงินกู้ ทำให้หนี้ลดลง 4,061.67 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการไถ่ถอนหุ้นกู้ จำนวน 7,100.53 ล้านบาท และการออกหุ้นกู้ จำนวน 4,200 ล้านบาท ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการเช่าซื้อเครื่องบินแอร์บัส A320-200 ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,179.40 ล้านบาท

? หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) มีหนี้คงค้างลดลง 4,095.23 ล้านบาท เนื่องจากการชำระหนี้เงินต้นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่กู้มาเพื่อดำเนินโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร โดยใช้เงินจากการระบายสินค้าเกษตร จำนวน 4,082.80 ล้านบาท และผลของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้หนี้ต่างประเทศสกุลต่างๆ ลดลง 12.43 ล้านบาท

? หน่วยงานของรัฐ มีหนี้คงค้างลดลงจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 53.86 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระหนี้เงินต้นของสำนักงานธนานุเคราะห์ จำนวน 58.05 ล้านบาท

ในเดือนตุลาคม 2558 สบน. มีการบริหารจัดการหนี้รัฐวิสาหกิจ วงเงิน 13,467.50 ล้านบาท ประกอบด้วย การกู้เงินในประเทศของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 2,300 ล้านบาท และการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 11,167.50 ล้านบาท

หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2558 เท่ากับ 5,867,372.68 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ในประเทศ 5,514,659.31 ล้านบาท หรือร้อยละ 93.99 และหนี้ต่างประเทศ 352,713.37 ล้านบาท (ประมาณ 10,106.44 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเท่ากับร้อยละ 6.01 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหากเปรียบเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 158,293.93 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูล ณ 30 ตุลาคม 2558) หนี้ต่างประเทศจะคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.38 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคงในด้านการเงินของประเทศ

โดยหนี้สาธารณะแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาวถึง 5,628,574.27 ล้านบาท หรือร้อยละ 95.93 และมีหนี้ระยะสั้น 238,798.41 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.07 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด

คณะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

โทร. 02 265 8050 ต่อ 5505, 5522, 5903

เอกสารแนบ 1

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ขอแถลงสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2558 ดังนี้

ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2558 มีจำนวน 5,867,372.68 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.80 ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 84,049.49 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. หนี้ของรัฐบาล 4,255,904.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 98,510.08 ล้านบาท

2. หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,054,887.68 ล้านบาท ลดลง 10,311.50 ล้านบาท

3. หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 538,201.12 ล้านบาท ลดลง 4,095.23 ล้านบาท

4. หนี้หน่วยงานของรัฐ 18,379.02 ล้านบาท ลดลง 53.86 ล้านบาท

1. หนี้ของรัฐบาล

1.1 หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้นสุทธิ 98,510.08 ล้านบาท เนื่องจาก

1.1.1 หนี้ต่างประเทศ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 1,253.98 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการเบิกจ่ายและชำระคืนหนี้สกุลเงินต่างๆ ทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทลดลงสุทธิ 196.24 ล้านบาท ประกอบกับการปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทลดลง 1,057.74 ล้านบาท ดังรายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 2

ตารางที่ 2 การเปลี่ยนแปลงของหนี้ต่างประเทศที่รัฐบาลกู้โดยตรง

1.1.2 หนี้ในประเทศ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 99,764.06 ล้านบาท โดยมีรายการสำคัญเกิดจาก

  • การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการบริหารหนี้ เพิ่มขึ้น 99,094.26 ล้านบาท รายละเอียด ดังนี้
  • การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 72,777.26 ล้านบาท โดยการออกพันธบัตรรัฐบาล จำนวน 45,707 ล้านบาท และพันธบัตรออมทรัพย์ จำนวน 27,070.26 ล้านบาท
  • การเพิ่มขึ้นของตั๋วเงินคลังสุทธิ จำนวน 26,317 ล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ
  • การเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ ภายใต้ พ.ร.ก. บริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ จำนวน 140 ล้านบาท
  • เงินกู้ให้กู้ต่อ ลดลง 5,306.53 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น
  • การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้ จำนวน 1,682.66 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง จำนวน 638.77 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จำนวน 580.13 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จำนวน 463.76 ล้านบาท และชำระหนี้เงินกู้ที่รัฐบาลให้กู้ต่อ จำนวน 7,304.78 ล้านบาท
  • การรถไฟแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้ จำนวน 315.59 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย 8 สายทาง จำนวน 306.87 ล้านบาท และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 8.72 ล้านบาท

• เงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ลดลง 516.67 ล้านบาท เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยชำระคืนต้นเงินกู้ โดยใช้เงินงบประมาณทั้งจำนวน

  • การกู้เงินบาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 6,353 ล้านบาท เนื่องจาก
  • การเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) จำนวน 353 ล้านบาท
  • การเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน:มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 จำนวน 6,000 ล้านบาท

1.2 หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า

1.3 หนี้เงินกู้ล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า

2. หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน

2.1 หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน

2.1.1 หนี้ต่างประเทศ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 1,435.88 ล้านบาท โดยเป็นผลการชำระคืนหนี้เงินเยน 366.63 ล้านบาท ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ประกอบกับผลจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทลดลง 1,069.25 ล้านบาท

2.1.2 หนี้ในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้น จำนวน 64.26 ล้านบาท เนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายจากแหล่งเงินกู้มากกว่าการชำระคืนต้นเงินกู้ โดยเป็นการเบิกจ่ายเงินกู้ 789.50 ล้านบาท และชำระคืนต้นเงินกู้ 725.24 ล้านบาท

2.2.1 หนี้ต่างประเทศ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 4,867.41 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทลดลง 5,180.58 ล้านบาท ประกอบกับการชำระคืนหนี้สกุลเงินต่างๆ ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น 313.17 ล้านบาท ดังรายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 4

2.2.2 หนี้ในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง 4,072.47 ล้านบาท เนื่องจาก

  • บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ออกหุ้นกู้ 4,200 ล้านบาท และไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด 7,100.53 ล้านบาท
  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนด 93 ล้านบาท
  • รัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ น้อยกว่าชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 1,078.94 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายเงินกู้ 245.47 ล้านบาท และชำระคืนต้นเงินกู้ 1,324.41 ล้านบาท

3. หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน)

3.1 หนี้ต่างประเทศ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 12.43 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน ดังรายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 5

3.2 หนี้ในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง 4,082.80 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรชำระคืนต้นเงินตามสัญญาเงินกู้

ทั้งนี้ หากพิจารณาในรูปเงินบาท หนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) หลังทำการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน จำแนกเป็นสกุลเงินต่างๆ มีรายละเอียดปรากฏตามแผนภาพที่ 3

แผนภาพที่ 3 หนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และรัฐวิสาหกิจที่เป็น สถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) ที่บริหารความเสี่ยงและจำแนกเป็นสกุลเงินต่างๆ

4. หนี้หน่วยงานของรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 53.86 ล้านบาท เนื่องจากหน่วยงานของรัฐมีการเบิกจ่ายจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ น้อยกว่าการชำระคืนต้นเงินกู้ โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของสำนักงานธนานุเคราะห์จำนวน 58.05 ล้านบาท

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2558 มีจำนวน 5,867,372.68 ล้านบาท ซึ่งหากแบ่งประเภทเป็นหนี้ต่างประเทศ-หนี้ในประเทศ และหนี้ระยะยาว-หนี้ระยะสั้น มีรายละเอียด ดังนี้

หนี้ต่างประเทศและหนี้ในประเทศ แบ่งออกเป็น หนี้ต่างประเทศ 352,713.37 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.01 และหนี้ในประเทศ 5,514,659.31 ล้านบาท หรือร้อยละ 93.99 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง รายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 6

หนี้ระยะยาวและหนี้ระยะสั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • หนี้ระยะยาวและหนี้ระยะสั้น (แบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน) แบ่งออกเป็น หนี้ระยะยาว 5,628,574.27 ล้านบาท หรือร้อยละ 95.93 และหนี้ระยะสั้น 238,798.41 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.07 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง รายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 7

-หนี้ระยะยาวและหนี้ระยะสั้น (แบ่งตามอายุคงเหลือ) แบ่งออกเป็น หนี้ระยะยาว 5,098,127.65 ล้านบาท หรือร้อยละ 86.89 และหนี้ระยะสั้น 769,245.03 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.11 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง รายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 8

ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โทร. 0 2265 8050 ต่อ 5512,5520

เอกสารแนบ 2

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะขอสรุปผลการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐที่ดำเนินการโดยสำนักงาน บริหารหนี้สาธารณะ ประจำเดือนตุลาคม 2558 วงเงินรวม 133,388.99 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 119,921.49 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจ 13,467.50 ล้านบาท

1. การบริหารจัดการหนี้รัฐบาล วงเงินรวม 119,921.49 ล้านบาท ประกอบด้วย

• การกู้เงินในประเทศ 107,585.51 ล้านบาท

• การเบิกจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ 131.54 ล้านบาท

• การชำระหนี้ 12,204.44 ล้านบาท

1.1 การกู้เงินในประเทศ กระทรวงการคลังกู้เงินและเบิกจ่ายเงินกู้ จำนวน 107,585.51 ล้านบาท รายละเอียด ดังนี้

1.1.1 การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 99,094.26 ล้านบาท โดยการออกพันธบัตรรัฐบาล จำนวน 45,707 ล้านบาท พันธบัตรออมทรัพย์ จำนวน 27,070.26 ล้านบาท และตั๋วเงินคลัง จำนวน 26,317 ล้านบาท

1.1.2 การเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ จำนวน 140 ล้านบาท จากสัญญาเงินกู้วงเงิน 15,393 ล้านบาท ที่ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 ภายใต้ พ.ร.ก. บริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ

1.1.3 การเบิกจ่ายเงินกู้ให้กู้ต่อ จำนวน 1,998.25 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

(1) การให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง จำนวน 638.77 ล้านบาท สายสีเขียว จำนวน 580.13 ล้านบาท และสายสีน้ำเงิน จำนวน 463.76 ล้านบาท

(2) การให้กู้ต่อแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อจัดทำโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย 8 สายทาง จำนวน 306.87 ล้านบาท และโครงการรถไฟสายสีแดง จำนวน 8.72 ล้านบาท

1.1.4 การเบิกจ่ายเงินกู้บาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ จำนวน 6,353 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

(1) เงินกู้เพื่อใช้ในโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) จำนวน 353 ล้านบาท

(2) เงินกู้เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 จำนวน 6,000 ล้านบาท

1.2การเบิกจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ กระทรวงการคลังได้มีการเบิกจ่ายเงินกู้จากต่างประเทศ จำนวน 131.54 ล้านบาท รายละเอียด ดังนี้

1.2.1 การเบิกจ่ายเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) จำนวน 78.68 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น เงินกู้เพื่อให้กู้ต่อแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย สำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 73.77 ล้านบาท หรือ 247.96 ล้านเยน และเงินกู้สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1 ของกรมทางหลวงชนบท จำนวน 4.91 ล้านบาท หรือ 16.49 ล้านเยน

1.2.2 การเบิกจ่ายเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย จำนวน 52.86 ล้านบาท หรือ 1.48 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ของกรมทางหลวง

1.3 การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศ กระทรวงการคลังไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศ

1.4 การชำระหนี้ กระทรวงการคลังได้ชำระหนี้ จำนวน 12,204.44 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

1.4.1 การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 9,868.06 ล้านบาท รายละเอียด ดังนี้

  • ชำระเงินต้น จำนวน 8,149.23 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณทั้งจำนวน แบ่งเป็น

(1) การชำระหนี้เงินกู้ที่รัฐบาลให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 7,304.78 ล้านบาท (2) การชำระหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้แทนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 516.67 ล้านบาท ซึ่งหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและรับภาระแทน และ (3) การชำระหนี้ต่างประเทศ จำนวน 327.78 ล้านบาท

  • ชำระดอกเบี้ย จำนวน 1,718.83 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณทั้งจำนวน แบ่งเป็น ดอกเบี้ยหนี้ในประเทศ 1,606.54 ล้านบาท และดอกเบี้ยหนี้ต่างประเทศ 112.29 ล้านบาท

1.4.2 การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพื่อชำระดอกเบี้ย จำนวน 2,336.38 ล้านบาท แบ่งเป็น

(1) การชำระหนี้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (FIDF 1) จำนวน 1,283.50 ล้านบาท

(2) การชำระหนี้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (FIDF 3) จำนวน 1,052.88 ล้านบาท

2. การบริหารจัดการหนี้รัฐวิสาหกิจ วงเงินรวม 13,467.50 ล้านบาท

2.1 การกู้เงินในประเทศ

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพกู้เงินในประเทศ จำนวน 2,300 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ในรูปของสัญญาเงินกู้ระยะยาวที่รัฐบาลค้ำประกัน

2.2 การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศ

รัฐวิสาหกิจได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศเป็นเงิน 11,167.50 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังตารางที่ 2

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ