ก.ไอซีที โชว์ผลงาน 1 ปีขับเคลื่อน Digital Thailand

ข่าวทั่วไป Thursday December 24, 2015 15:41 —สำนักโฆษก

กระทรวงไอซีที โชว์ผลงาน 1 ปี เสริมแกร่ง ICT ทุกมติ ชู GovChannel ยกระดับบริการภาครัฐ-สร้างความเชื่อมั่นธุรกิจอีคอมเมิร์ซ-ขยายบรอดแบนด์สู่ชุมชน-พัฒนาบุคลากร ย้ำเดินหน้าปฏิรูป “CAT-TOT-ไปรษณีย์ไทย” ปลื้มผลงานยกร่างกฎหมายขับเคลื่อน Digital Thailand พลิกโฉมประเทศไทย

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า กระแสของ Internet of Everything ได้กลายเป็นวาระแห่งชาติในหลายประเทศ ส่งผลให้ทุกประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ในส่วนของประเทศไทยที่ผ่านมาการพัฒนา ICT มุ่งเน้นเฉพาะด้านโทรคมนาคมเป็นหลัก ไม่ได้มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างจริงจัง โครงสร้างพื้นฐานยังไม่ครอบคลุมและไม่ทันสมัย รวมถึงขาดแคลนบุคลากรด้าน ICT ที่มีศักยภาพ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งรัดพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Thailand) ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจและความเท่าเทียมทางสังคมด้วยนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน เป็นการพลิกโฉมเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

กระทรวงไอซีทีได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อน Digital Thailand ไว้ 4 เป้าหมาย คือ ภาครัฐ : ปรับเปลี่ยนการทำงานและบริการภาครัฐด้วยดิจิทัลสมบูรณ์แบบ ภาคเศรษฐกิจ : เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันก้าวทันเวทีโลก ภาคสังคม : ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส ส่งเสริมความเท่าเทียม และภาคบุคลากร : พัฒนาทุนมนุษย์สำหรับโลกยุคดิจิทัล โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล สร้างความเชื่อมั่นการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมการสร้างบริการดิจิทัลของภาครัฐ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนาสังคมดิจิทัล และพัฒนากำลังคนดิจิทัล โดยกำหนด 7 แผนงานสำคัญ ประกอบด้วย พัฒนาเครือข่ายศูนย์ดิจิทัลชุมชน สร้างโอกาสและความเท่าเทียมในสังคม สร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทย พัฒนาความเชื่อมโยงโครงข่าย ปรับเปลี่ยนระบบงานและบริการภาครัฐ พัฒนาทุนมนุษย์สำหรับโลกยุคดิจิทัล และพัฒนาเทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดย 4 เป้าหมาย 6 ยุทธศาสตร์ และ 7 แผนงานดังกล่าวเป็นการบูรณาการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่ทุกมิติ ทุกภาคส่วน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ

สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมาในปี 2558 ในส่วนของงานภาครัฐ กระทรวงไอซีทีได้ปรับเปลี่ยนการทำงานและบริการภาครัฐสู่ดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ภาครัฐเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ลดความซ้ำซ้อน ประหยัดงบประมาณ โดยเฉพาะการพัฒนาช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐเพื่อประชาชนผ่าน GovChannel 3 ช่องทาง คือ 1) ผ่านเว็บไซต์ egov.go.th ให้บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์, data.go.th เผยแพร่ข้อมูลเปิดภาครัฐ และ info.go.th บริการคู่มือประชาชน 2) ผ่านอุปกรณ์สื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชัน GAC และ 3) ผ่านอุปกรณ์อื่นๆ ได้แก่ Government Kiosk ให้บริการแบบ Self-Service นำร่องที่โรงพยาบาลราชวิถี ศูนย์ G-Point ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์และเซ็นทรัลศาลายา รวมถึง Government Smart Box ช่องทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่น นำร่องที่ กศน.ตำบล จังหวัดเชียงรายและพะเยา

ภาคเศรษฐกิจ มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ก้าวทันเวทีโลก ด้วยการส่งเสริมมาตรการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ คัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วม thaiemarket.com พัฒนาระบบ e-Directory รับรองความมีตัวตนในโลกออนไลน์ของผู้ประกอบการที่อยู่ใน thaiemarket.com ซึ่งขณะนี้มีจำนวนกว่า 800 กิจการ รวมสินค้ากว่า 5,000 รายการ การส่งเสริมความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น กำหนดมาตรการด้านต่างๆ เกี่ยวกับมาตรฐาน ความมั่นคงปลอดภัย และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจไทยเติบโตและสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลายล้านล้านบาท ซึ่งผลสำรวจมูลค่าตลาดธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) โดยผู้เชี่ยวชาญจาก UNCTAD พบว่าตลาด e-Commerce ไทยในปี 2558 มีมูลค่ากว่า 2.1 ล้านล้านบาท สูงที่สุดในอาเซียน

ภาคสังคม มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และส่งเสริมความเท่าเทียมแก่ประชาชน ด้วยการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ขยายบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) 1,365,000 พอร์ต ภายในปี 2558 ครอบคลุมพื้นที่ระดับหมู่บ้านและชุมชน สร้างโอกาสการทำธุรกิจแก่ชุมชนผ่านศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน รวมทั้งปรับเปลี่ยนโมเดลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนนำร่อง 600 แห่ง สามารถสร้างโอกาสในการเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านศูนย์ ICT ชุมชนกว่า 200,000 คน โครงการพัฒนาประสิทธิภาพเพื่อการเตือนภัยพิบัติและอุตุนิยมวิทยา เช่น จัดทำแอปพลิเคชันสภาพอากาศ Thai Weather และพัฒนาระบบเรดาร์ตรวจอากาศ สามารถตรวจวัดและพยากรณ์ฝนล่วงหน้า ครอบคลุมถึงระดับตำบลเพื่อสนับสนุนการเตือนภัยในระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีศูนย์บริการด้าน ICT และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ตลอดจนการจัดฝึกอบรมความรู้ด้าน ICT ให้กับคนพิการและด้อยโอกาส

ภาคบุคลากร ได้พัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในทุกระดับผ่านหลักสูตรการฝึกอบรม เช่น การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนทั่วประเทศ การพัฒนาบุคลากรซอฟต์แวร์ไทยให้มีมาตรฐานในระดับสากลและตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐาน CMMI และ ISO 29110 การอบรมผู้ประกอบการด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โครงการอบรมการทำ e-Commerce และหลักสูตรการอบรมประจำปีสำหรับผู้บริหาร ICT ระดับสูงภาครัฐ หลักสูตรด้าน Digital Government Capability เพื่อยกระดับและสร้างความพร้อมเกี่ยวกับรัฐบาลดิจิทัล

ดร.อุตตม กล่าวว่า กระทรวงไอซีทียังคงสานต่อนโยบายและเร่งรัดการดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศจากเวทีการประชุมด้าน ICT เช่น การจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (TELMIN) ครั้งที่ 14 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (TELSOM) ครั้งที่ 15 การเจรจาความร่วมมือด้าน ICT จนไปสู่การลงนามความร่วมมือด้าน ICT และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยเบื้องต้นได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้าน ICT กับสิงคโปร์และญี่ปุ่นแล้ว

ด้านการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงไอซีที 3 หน่วยงาน ได้แก่ บมจ.ทีโอที (TOT) บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) และ บจ.ไปรษณีย์ไทย ได้ดำเนินการตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยทำความเข้าใจกับ TOT และ CAT ด้านบริหารจัดการคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันและได้คืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ของ CAT และย่าน 900 MHz ของ TOT ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำไปประมูล ซึ่งการประมูลคลื่น 4G จะทำให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการนำรายได้เข้ารัฐ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม รวมทั้งเร่งรัดให้จัดทำแผนธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นองค์กรและปรับโครงสร้างองค์กร TOT และ CAT เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่วน บจ.ไปรษณีย์ไทย ได้มีการพัฒนาองค์กรจนสามารถจัดตั้งบริษัทลูกและขยายธุรกิจด้านโลจิสติกส์

นอกจากนี้ ในปี 2558 กระทรวงไอซีทีได้ยกร่างกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มกฎหมายส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล กลุ่มกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และกลุ่มกฎหมายด้านความมั่นคง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้มีการดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อรองรับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าส่วนหนึ่งจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2559

“สำหรับปี 2559 กระทรวงไอซีทียังคงสานต่อการดำเนินงานตาม 4 เป้าหมาย 6 ยุทธศาสตร์ 7 แผนงาน โดยรกำหนดโครงการนำร่องเพื่อการขับเคลื่อนไว้อย่างครบถ้วน และในโอกาสปีใหม่นี้ กระทรวงไอซีทีขอมอบของขวัญแก่ประชาชนด้วยบริการแอปพลิเคชันตัวใหม่ คือ ระบบภาษีไปไหน (Thailand Government Spending) เพื่อการรับรู้ การมีส่วนร่วม และสามารถตรวจสอบได้ว่ารัฐบาลนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ในเรื่องใดบ้าง และระบบแจ้งข้อมูลข่าวสาร (Government News : G-News) เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสาร หรือมาตรการต่างๆ จากภาครัฐที่มีความถูกต้อง ฉับไว และเชื่อถือได้ไปสู่ประชาชนโดยตรง” ดร.อุตตม กล่าว

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ