นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีที่เดินทางมายังที่ทำการใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อรับฟังการบรรยายบาทบาทสำคัญของตลาดทุนและกรอบแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนโดยปลัดกระทรวงการคลัง พร้อมกันนี้ผู้นำภาคตลาดทุนได้ร่วมให้คำมั่นในการพัฒนาตลาดทุนของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ขณะที่ นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวถึงบทบาทสำคัญของสภาธุรกิจตลาดทุนฯ ว่า เป็นแหล่งระดมทุนของธุรกิจและการลงทุนในระยะยาวสำคัญ ซึ่งปัจจุบัน บจ.มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมมากกว่า GDP ของประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสภาธุรกิจตลาดทุนไทยมีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดแก่รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐในการผลักดันมาตรการและนโยบายสำคัญ รวมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลงทุน การออม แก่ภาคครัวเรือน เพราะเชื่อว่าหากภาคครัวเรือมีความมั่นคงทางการเงิน สังคมจะมั่งคั่งซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศชาติ โดยทุกองค์กรภายใต้สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ประกอบด้วย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียน สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมสนับสนุนแนวทางของรัฐบาลเกี่ยวกับตลาดทุนที่จะวางรากฐานเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่ารู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มาเยี่ยมชมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยได้รับความรู้และประโยชน์เป็นอย่างมากจากการรับฟังการบรรยายบาทบาทสำคัญของตลาดทุนและกรอบแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุน รวมทั้งบทบาทสำคัญของสภาธุรกิจตลาดทุนฯ ในวันนี้ ซึ่งจะต้องมีการสร้างความเข้าใจให้ประชาชนรับรู้ถึงประโยชน์ในเรื่องของการลงทุน เพื่อป้องกันการปลุกระดมประชาชนและการแบ่งชนชั้นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมอีก ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่าง ๆ ผ่านกลุ่มงานที่รองนายรัฐมนตรีดูแลเพื่อนำนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐทั้งกระทรวง ทบวง กรม ร่วมกับภาคเอกชน ประชาสังคมต่าง ๆ ซึ่งนโยบายสำคัญของรัฐบาลวันนี้คือการปฏิรูปทุกมิติ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกด้าน โดยธุรกิจต่าง ๆ ถือว่าเป็นเครื่องจักรและกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต้องมีความเชื่อมโยงกัน โดยหากภาคธุรกิจและตลาดทุนต้องการเข้ามามีส่วนร่วมเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศในมิติต่าง ๆ ที่มีอยู่ 11 ด้านก็สามารถเสนอไปที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่ดีในการที่จะดำเนินการต่าง ๆ ให้ประสานสอดคล้องกับภาคธุรกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคข้อติดขัดในการดำเนินการ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น และประเทศไทยจะก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมกับประเทศเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียนโดยไม่ทิ้งประเทศใดไว้ข้างหลัง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นระหว่างกันในประชาคมอาเซียน เพื่อให้ประเทศไทยและประชาคมอาเซียนพัฒนาและเข้มแข็งอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามการที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นกับต่างประเทศนั้น ประเทศไทยต้องปฏิรูปตัวเองก่อน จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรวมทั้งภาคธุรกิจและตลาดทุนในการดำเนินการและสร้างความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ทั้งเรื่องรถไฟ รถไฟฟ้า ถนน รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
ส่วนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม นอกจากต้องทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ทุกคนจะต้องออกไปทำหน้าที่ในการลงประมาชามติและใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยเลือกรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลและผู้ที่มีความเหมาะสมเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งตรงนี้รัฐบาลได้วางรากฐานไว้ให้แล้วแต่ทุกคนต้องร่วมดำเนินการต่อเพื่ออนาคตของประชาชนทุกคนและประเทศชาติ อีกทั้งรัฐบาลยังจะมีการขับเคลื่อนเรื่องของประชารัฐ การพัฒนาเศรษฐกิจที่จะทำให้เกิดความเข้มแข็งจากภายใน โดยเฉพาะเศรษฐกิจชุมชน SME เพื่อทำให้ชุมชนในพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศไทยมีความเข้มแข็งเกิดการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและผลิตภัณฑ์ระหว่างกันในภูมิภาคซึ่งจะทำให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีความสุข โดยคาดหวังว่าการดำเนินการทุกอย่างจะสำเร็จในระยะที่ 1 ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงเดือนกรกฎาคม 2560 ตามโรดแมปที่รัฐบาลกำหนดไว้ แต่หากมีเรื่องใดที่จะต้องดำเนินการต่อก็ส่งให้รัฐบาลชุดต่อไปที่จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินดำเนินการ
ในส่วนของการระดมทุนของไทยในปีนี้มีแผนการจัดตั้ง Thailand Future Fund ซึ่งจะเป็นการระดมเงินนำไปลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยถือว่าเป็นการสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงมากขึ้น รวมทั้งเรื่องความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของไทย การแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยและเป็นปัจจุบันทันต่อสถานการณ์ การจัดเก็บภาษีจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ตลอดจนจะต้องมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีคุณภาพ รู้จักศึกษาและเรียนรู้คิดวิเคราะห์เป็น รวมทั้งมีการศึกษาในเรื่องของภาษาต่างประเทศเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศในการที่จะประกอบธุรกิจหรืออาชีพต่าง ๆ การผลิตทรัพยากรมนุษย์และแรงงานต้องให้ตรงกับความต้องการของประเทศ ซึ่งหากทุกคนรู้หน้าที่ของตนเองและมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาก็จะนำไปสู่การเชื่อมโยงทั้งในเรื่องคนและเศรษฐกิจของประเทศที่เข้มแข็งขึ้น รวมทั้งรัฐบาลได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ความมีเหตุมีผล ความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกันที่ดี ภายใต้การมีความรู้คู่คุณธรรม มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติและดำเนินนโยบายของรัฐบาล
พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้ฝากให้ภาคธุรกิจและตลาดทุนสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะการสนับสนุนเงินทุนสำหรับ SME หรือโรงงานขนาดเล็นในการนำงานวิจัยขึ้นหิ้งมาพัฒนาต่อยอดในเรื่องของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เรื่องการแปรรูปยางพารา การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ จากภูมิปัญญาและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้น่าสนใจ ฯลฯ อย่างไรก็ตามการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวทุกคนจะต้องช่วยกันสนับสนุนและสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับประชาชนฐานรากได้มีความรู้ความเข้าใจในการที่จะพัฒนาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้มีคุณภาพเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองและชุมชน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น พร้อมฝากให้สื่อมวลชนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ขณะที่ประชาชนก็ต้องรู้จักที่จะบริโภคข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างรู้เท่าทัน มีสติในการคิดวิเคราะห์ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อข้อมูลเหล่านั้นและเผยแพร่ต่อไป
ขณะเดียวกันสิ่งสำคัญที่จะต้องทำร่วมกันขับเคลื่อนประเทศมี 12 กลุ่มงานที่มาจากภาคธุรกิจ เช่น เรื่องนวัตกรรมและผลิตภาพ ดึงดูดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การยกระดับในเรื่องวิชาชีพและการอบรมในเรื่องภาษาต่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ การส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมการส่งออกในประเทศและต่างประเทศ การพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ การศึกษาพื้นฐาน การพัฒนาผู้นำ ฯลฯ พร้อมฝากภาคธุรกิจและตลาดทุนหากมีข้อมูลต่าง ๆ สามารถส่งไปยังสถานทูต กระทรวงการต่างประเทศได้ เพื่อที่จะนำไปชี้แจงให้ต่างประเทศเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่รัฐบาลและประเทศไทยดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนขอให้ร่วมกันสร้างการรับรู้ให้มากขึ้นในเรื่องที่รัฐบาลดำเนินการ เช่น การส่งเสริมการลงทุน การให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ฯลฯ เพื่อพัฒนาประเทศให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชม “INVESTORY” พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน (Investment Discovery Museum) แห่งแรกในประเทศไทย ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งสนับสนุนภารกิจที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ด้านการเงินการลงทุนแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป
----------------------
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th