รัฐบาลออกมาตรการรับมือปัญหาหมอกควันไฟป่าภาคเหนือ วอนประชาชนปฏิบัติตามข้อแนะนำของเจ้าหน้าที่ ลดภาระการใช้น้ำดับไฟ-หมอกควัน ชวนเกษตรกรภาคกลางงดทำนาปรังร่วมป้องกันวิกฤตภัยแล้ง

ข่าวทั่วไป Sunday January 17, 2016 12:01 —สำนักโฆษก

วันนี้ (17 ม.ค.59) พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาหมอกควันและไฟป่าทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด ที่มักเกิดปัญหาวิกฤตทุกปีในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. ได้แก่ จ. เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง และตาก เนื่องจากตรงกับช่วงฤดูแล้งและภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นแอ่งกระทะ ประชาชนมักเผาวัชพืชและวัสดุการเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก มีการเผาวัชพืชริมทาง เผาในชุมชน หรือเกิดจากไฟป่า

“รัฐบาลกำหนดให้แต่ละจังหวัดใช้กลไกประชารัฐในการแก้ไขปัญหา โดยให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ทำหน้าที่บูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร อปท. ตำรวจตระเวนชายแดน ภาคเอกชน และประชาชน แบ่งหน้าที่และพื้นที่รับผิดชอบ เฝ้าระวัง ระดมกำลังคน จัดหาอุปกรณ์ ระงับการเผาป่าหรือวัสดุการเกษตร จัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบ และประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกร่วมกันในการป้องกันปัญหา”

พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า จะมีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบที่ชัดเจนคือ 1. พื้นที่เกษตรกรรม มีกระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอื่น ๆ รณรงค์ให้มีการไถกลบตอซังและใช้สารย่อยสลายแทนการเผา ใช้กลไกควบคุมกันเองในชุมชน เช่น ประกาศเขตห้ามเผา 90 วัน เป็นต้น 2. พื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ตำรวจตระเวนชายแดน ทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน จัดทำแนวป้องกันไฟป่า ลาดตระเวน และบังคับใช้ กฎหมายกับผู้กระทำผิดโดยเคร่งครัด 3. พื้นที่ริมทางหลวง มีกระทรวงคมนาคมเป็นหลัก ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยควบคุมไม่ให้มีการเผาในพื้นที่เขตทางหลวง จัดชุดลาดตระเวนเฝ้าระวังการเผา

“ท่านนายกฯ กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัดและมีเอกภาพ เน้นการทำงานเชิงรุก เพราะปัญหาหมอกควันส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและการใช้ชีวิตของประชาชน รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว และหากเกิดไฟป่าและหมอกควันอาจจำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อบรรเทาปัญหา ซึ่งจะกระทบต่อปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้ง

ดังนั้น จึงขอความร่วมมือไปยังประชาชนในภาคเหนือร่วมกับเจ้าหน้าที่ป้องกันปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างจริงจัง และวิงวอนพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าวนาปรัง เพื่อจำกัดการใช้น้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค โดยรวมในช่วงหน้าแล้งนี้

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ