คนร.เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ยกระดับรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข่าวทั่วไป Monday January 18, 2016 14:23 —สำนักโฆษก

คนร.เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ยกระดับรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยืนยันกฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์เพื่อปฏิรูประบบกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจไม่ใช่เพื่อแปรรูป จึงไม่มีผลกระทบต่อสถานะรัฐวิสาหกิจ รวมถึงสถานะและสภาพการจ้างงานของพนักงานรัฐวิสาหกิจ

วันนี้ (18ม.ค.59) เวลา 09.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมด้วย

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คนร. พร้อมด้วยนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ได้แถลงผลการประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและการบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ซึ่งได้มีการปรับปรุงแก้ไขตามความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ทุกภาคส่วนแล้ว ตามที่คณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการนำหลักบรรษัทภิบาลที่ดี (Good Corporate Governance) ตามมาตรฐานสากลมาปรับใช้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง รวมทั้งจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัท ขณะเดียวกันการจัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” ยังมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่กระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด เพื่อทำหน้าที่หน่วยงานเจ้าของ (แบบรวมศูนย์) สำหรับรัฐวิสาหกิจ 12 แห่งที่เป็นบริษัท และมอบหมายให้ สคร. ทำหน้าที่หน่วยงานเจ้าของ (แบบที่ปรึกษา) สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายจัดตั้ง อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์เพื่อปฏิรูประบบกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจไม่ใช่เพื่อแปรรูป จึงไม่มีผลกระทบต่อสถานะรัฐวิสาหกิจ รวมถึงสถานะและสภาพการจ้างงานของพนักงานรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจเสนอ ซึ่งเห็นว่า รัฐวิสาหกิจดังกล่าวมีความคืบหน้าและพัฒนาดีขึ้นตามลำดับ แต่การแก้ปัญหาในบางประเด็นสำคัญยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และจำเป็นต้องมีการติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด โดยจะมีการประเมินผลการดำเนินงานอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2559

ทั้งนี้ คนร. ได้มีข้อสังเกตในการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจรายแห่ง ดังนี้

1. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที) และบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท.) ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวง ICT) กำหนดทิศทางและบทบาทที่ชัดเจนร่วมกันของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง และกำกับดูแลการดำเนินงานดังกล่าว ให้มีความชัดเจนและเห็นผลเป็นรูปธรรมภายในเดือนมีนาคม 2559

2. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ประชุมให้ข้อสังเกตในส่วนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ รฟท. กำหนดให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท. ต้องมีความชัดเจนถึงแหล่งเงินลงทุนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และให้เริ่มลงทุนได้ภายในปี 2559 – 2560 รวมทั้ง กำหนดนโยบายให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนสำหรับโครงการของ รฟท. เพิ่มขึ้นแทนการให้ รฟท. ลงทุนเอง เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐในภาพรวม สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ARl) ยืนยันให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการดำเนินงานเดินรถ พร้อมทั้ง กำหนดให้ รฟท. จัดทำแผนงานส่งมอบพื้นที่ย่านโรงงานมักกะสันให้ชัดเจน โดยยืนยันให้ รฟท. ทยอยส่งมอบพื้นที่ให้กระทรวงการคลังภายใน 2 ปี ยกเว้นพื้นที่ที่เป็นโรงพยาบาลและบ้านพักให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี

3. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ประชุมเร่งรัดให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนแผนการจัดหารถ โดยให้พิจารณาประเภทและจำนวนที่เหมาะสมภายในเดือนมีนาคม 2559 รวมทั้งเร่งจัดซื้อรถโดยสารก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน ให้สามารถประกวดราคาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2559 ตลอดจนการจัดทำระบบตั๋วร่วม ให้เริ่มดำเนินการในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ทันที โดยเฉพาะในส่วนของ ขสมก. ก่อน และให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการให้เอกชนเข้ามาเดินรถในส่วนของ ขสมก. เพิ่มเติม และให้กำกับรถร่วมบริหารให้มีคุณภาพการให้บริการที่ดี

4. บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ. การบินไทย) ที่ประชุมให้จัดทำแผนงานและกำหนดเวลาการจัดการตัวแทนจำหน่าย (Agent) ให้มีความชัดเจนและเสนอภายในเดือนมีนาคม 2559 รวมทั้ง ให้ชะลอการจัดหาเครื่องบินที่ยังไม่มีความจำเป็น ส่วนในกรณีมีการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมจะต้องเป็นเครื่องบินประเภทเดียวกับที่มีอยู่แล้วในฝูงบิน

5. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ที่ประชุมให้เร่งลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPls)

6. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ที่ประชุมให้เร่งดำเนินการจัดหาพันธมิตรให้เป็นไปตามแผนงานและลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPls)

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานรัฐวิสาหกิจร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ที่ประชุม คนร. จะติดตามผลการดำเนินงานตามแผนที่ยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง โดยได้กำหนดตัวชี้วัดการประเมินผลการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง เพื่อประเมินผลต่อไปในเดือนมีนาคม 2559 และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงานการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ พิจารณาแผนการดำเนินงานในปี 2559 ของรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปและนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งกำหนดแนวทางการประเมินผลการแก้ไขปัญหาและมาตรการเพื่อบังคับใช้ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจไม่สามารถดำเนินการได้บรรลุตามเป้าหมาย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559

------------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ