โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการใช้ยางสร้างลู่วิ่งสนามกีฬาเดือนละ 966 ตัน ซึ่งเป็นผลงานเกี่ยวเนื่องกับยางพาราที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ในระยะยาว โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ นำการพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างพื้นลู่-ลานกรีฑา สนามกีฬา และลานอเนกประสงค์ จากยางธรรมชาติ มาเสนอ ซึ่งเป็นการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้คุณภาพ มาตรฐานเทียบเคียงกับต่างประเทศ สนับสนุนการใช้วัตถุดิบยางธรรมชาติภายในประเทศ อายุการใช้งาน มากกว่า 5 ปี มีผลสำรวจจากผู้ประกอบการ ที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้วว่ามีความพร้อม นอกจากนี้ยังพบว่ากำลังผลิตเม็ดยางสำหรับใช้ทำพื้นสังเคราะห์ โดยในหนึ่งเดือนจะมีกำลังผลิตอย่างน้อย 966 ตัน สามารถสร้างลู่ลานกรีฑาได้ประมาณ 21 สนาม คิดเป็นมูลค่า 420 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในด้านมาตรฐานนั้น กรมวิทยาศาสตร์บริการ มีความพร้อมตรวจสอบตามมาตรฐาน มอก. 2682 – 2558 สำหรับเม็ดยางใช้ทำพื้นสังเคราะห์ และ มอก. 2683-2558 สำหรับพื้นสังเคราะห์ เพื่อใช้กับผลิตภัณฑ์พื้นลู่ลานกรีฑา สนามกีฬา และลานอเนกประสงค์ โดยมาตรฐานดังกล่าวได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) แล้วเมื่อ เมษายน 2558 สามารถลดค่าใช้จ่ายและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ กลุ่มอุตสาหกรรมยางและกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างแล้ว เมื่อกุมภาพันธ์ 2558 ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ในหลักสูตร 1 เทคโนโลยีการสร้างพื้นลู่-ลานกรีฑา สนามกีฬา และลานอเนกประสงค์ และ หลักสูตร 2 เทคโนโลยีการผลิตเม็ดยาง มีผู้เข้ารับการอบรมกว่า 60 บริษัท โดยขณะนี้ได้จัดสร้างพื้นที่สาธิตต้นแบบ ลู่ลานกรีฑา สนามกีฬา และลานเอนกประสงค์โดยใช้ยางธรรมชาติ เพื่อเป็นพื้นที่สาธิต ณ โรงเรียนบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ขนาดพื้นที่ประมาณ 989 ตารางเมตร ใช้ยางธรรมชาติรวม 245 ตัน ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ส่งมอบสนามดังกล่าวให้กับกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำเสนอ 2 โครงการคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์แผ่นยางรองรางรถไฟจากยางพารา ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่า มีคุณภาพผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดตาม มอก. 2667-2558 ใช้วางระหว่างหมอนรองรางกับรางรถไฟเพื่อลดเสียงและการสั่นสะเทือนขณะที่รถไฟเคลื่อนที่ผ่าน ช่วยลดการถ่ายเทแรงไปยังหมอนคอนกรีตและช่วยกระจายแรง พร้อมทั้งปกป้องผิวด้านบนของหมอนคอนกรีตไม่ให้สึกกร่อนและถูกแรงกระแทก ทำให้ทั้งรางรถไฟและหมอนคอนกรีตรองรางรถไฟมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น
อีกหนี่งโครงการคือ คอมพาวด์สำหรับยางล้อตันประหยัดพลังงาน มีการพิสูจน์ว่าดีกว่ายางล้อตันของบริษัทชั้นนำข้ามชาติอันดับหนึ่งของโลกร้อยละ 14 สามารถประหยัดพลังงานได้ดีขึ้นกว่ายางล้อตันเดิมของบริษัทร้อยละ 23 และยังทนต่อการสึกกร่อน 2 เท่า ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 60,000 บาท/คัน/ปี อีกด้วย
อีกทั้งการพัฒนาสารสกัดจากน้ำยางพาราสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิจัยจนค้นพบความมหัศจรรย์จากต้นยาง ที่สามารถสร้างมูลค่าจากน้ำยางนำไปใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ขณะนี้ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ภาคเอกชน จนสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และวางขายในท้องตลาดแล้ว และได้ยื่นจดสิทธิบัตรไป 8 ประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถขยายผลไปสู่ผลิตภัณฑ์ เพื่อบำรุงผม หนังศีรษะ ผิวพรรณ และอาหารเสริมทางการแพทย์ รวมไปถึงพัฒนาเป็นสารตั้งต้นสำหรับยารักษามะเร็งได้อีกด้วย
ขณะที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เพิ่มมูลค่าผลิตโดยใช้เทคโนโลยี เคลือบถุงมือผ้าสำหรับกันลื่นในการใช้งานด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีลงสู่ วิสาหกิจชุมชนชาวสวนยางบ้านในสวน จ.สุราษฎร์ธานี สหกรณ์กองทุนสวนยางทรัพย์ทวี จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี วิสาหกิจชุมชนแปรรูปยางพาราไทย จ.สุราษฎร์ธานี วิสาหกิจชุมชนโนนบก จ.อุดรธานี ส่วนหมอนยางพารา ทาง วว.ได้ใช้เทคโนโลยีด้านนวัตกรรมวัสดุในการเพิ่มความนุ่มของผลิตภัณฑ์ โดยมีการคาดการณ์ต้นทุนที่ใบละ 245 บาท ขายใบละ 500 บาท โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับ กลุ่มชาวสวนยางทรัพย์ทวี
ขณะเดียวกัน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ นำเสนอเทคโนโลยีการผลิตยางธรรมชาติเสริมแรงด้วยเศษกัญชงที่มีการปรับปรุงทางเคมีเพื่อเพิ่มแรงยึดติดระหว่างยางกับกัญชง ร่วมกับการพัฒนาให้ยางพาราสามารถแทรกตัวและเชื่อมประสานกับผ้าทอจากกัญชง ที่มีการปรับปรุงการตีเกลียวของเส้นด้ายและปรับโครงสร้างผ้าให้เพิ่มคุณสมบัติทนต่อแรงขัดถู ซึ่งพรมจากยางพาราและกัญชงมีคุณสมบัติลดการเกิดไฟฟ้าสถิตย์และลดกลิ่น คาดการณ์ผลประโยชน์ด้านการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมยางราว 20 เท่า เป้าหมายการผลิต 100,000 ชุดต่อปี จะทำให้มีการใช้แผ่นยางพารารมควันปีละ 210,000 กิโลกรัม
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับนวัตกรรมผลิตผนังสามมิติจากยางธรรมชาติ ซึ่งมีการพัฒนาคอมพาวนด์ มีการพัฒนารูปแบบกระบวนการผลิต และการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานจริง โดยการติดตั้งในสถานที่ต่างๆ ได้แก่ โรงแรม คอนโด และบ้านเดี่ยว โดยมีการใช้ในประเทศและส่งออกปีละประมาณ 10 ล้านบาท อีกหนึ่งนวัตกรรมที่นำเสนอคือ ฟลอร์ บีอาร์ แผ่นยางปูพื้นเพื่อลดแรงกระแทกจากการหกล้ม โดยใช้เทคโนโลยีการออกแบบและพัฒนาสูตรคอมพาวนด์ยางธรรมชาติและเทคโนโลยีการทำให้ยางสุกบางส่วน เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการอัดขึ้นรูป ได้ผลิตภัณฑ์ยางพาราปูพื้นที่มีคุณสมบัติที่สามารถรับแรงกระแทกสูงกว่าค่าแรงเฉลี่ยที่ทำให้มีอาการบาดเจ็บเมื่อเกิดการหกล้ม จึงช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุ และเด็ก อีกด้วย
- - - - - - - - - -
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ข้อมูล:กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดวงใจ/รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th