นายกรัฐมนตรีเตรียมตรวจเยี่ยมพื้นที่โครงการฟื้นฟูสระเก็บน้ำบ้านหนองดู่ จ.ชัยนาท ตามโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ข่าวทั่วไป Wednesday January 20, 2016 15:10 —สำนักโฆษก

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และพลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินการโครงการเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่โครงการฟื้นฟูสระเก็บน้ำบ้านหนองดู่ ( 400 ไร่ ) อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่แบบบูรณาการ โดยมีปริมาณกักเก็บน้ำทั้งสิ้น 800,000 ลบ.ม. ทั้งนี้ บ้านหนองดู่ ต.หนองมะโมง อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งในอำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาทที่ประสบปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้งอยู่เป็นประจำ สภาพปัจจุบันเป็นทุ่งนากว้าง ดินลูงรัง จำเป็นต้องมีการอนุรักษ์ฟื้นฟูโดยการขุดลอกและกำจัดวัชพืช เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำได้มากขึ้นสำหรับใช้ในหน้าแล้ง และเพื่อการระบายน้ำที่ดีในฤดูน้ำหลาก ดังนั้น จังหวัดชัยนาท จึงได้ดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้น โดยพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการ จำนวน 8,312.5 ไร่ และมีครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 900 ครัวเรือน ขณะเดียวกันยังมีการนำพื้นที่ 100 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิพระพุทธชินวงศ์ให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วย

ทั้งนี้ เกษตรกรจังหวัดชัยนาท ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาปรัง พื้นที่ปลูก จำนวน 566,000 ไร่เศษ จากพื้นที่การเกษตรทั้งหมด จำนวน 1,283,124 ไร่ คิดเป็น 44.11 % จากการทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง โดยใช้น้ำ

จากชลประทาน และใช้น้ำจากบ่อบาดาลในบางส่วนที่น้ำไม่สามารถส่งมาถึง หรือช่วงที่งดการการส่งน้ำ

ซึ่งจากการสำรวจแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของเกษตรกรจังหวัดชัยนาทเป็นแหล่งการเกษตรของตนเอง

มี บ่อดาล จำนวน 7,035 บ่อ บ่อน้ำตื้น 1,097 บ่อ ส่งผลให้เกษตรกรจังหวัดชัยนาทสามารถทำนาได้อย่างต่อเนื่อง 2 - 3 ครั้ง/ปี

อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 ต่อเนื่องมาถึงปี 2559 ได้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและปริมาณน้ำฝนที่มีน้อยกว่าปกติ จึงเกิดภาวะภัยแล้งทำให้เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานส่วนใหญ่ไม่สามารถทำนาปรังได้ แต่ยังมีเกษตรกรที่มีพื้นที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 112,752 ไร่ เกษตรกรเหล่านี้จะอาศัยน้ำจากชลประทานในช่วงแรกและใช้น้ำจากบ่อดาลต่อจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ซึ่งจากการเข้าสำรวจพบว่าบ่อบาดาลระดับน้ำตื้นที่เกษตรกรในจังหวัดชัยนาทใช้สูบน้ำเพื่อทำการเกษตรจะสามารถสูบน้ำได้ถึงช่วงเดือนเมษายน เกษตรกรได้รับทราบถึงสถานการณ์ภัยแล้งดี เพราะจังหวัดชัยนาทมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงสถานการณ์อย่างต่อเนื่องถึงความเสี่ยงในการทำนา ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกษตรกรมีการลดพื้นที่การทำนาปรังลงอย่างมากตามมาตรการของรัฐบาล โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาทได้ดำเนินการตามมาตรการที่ 1 การส่งเสริมการให้ความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ซึ่งมีเกษตรเข้าร่วมโครงการสร้างรายได้จากพืชทดแทนนาปรัง จำนวน 12,315 ราย โดยพืชที่ใช้น้ำน้อยเพื่อปลูกทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว ฯลฯ ซึ่งการที่เกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าวนาปรัง นั้น จะเห็นได้ว่าใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกข้าว เช่น พื้นที่ทำนา 1 ไร่ ใช้น้ำ 1,038 ลบ.ม. ขณะที่พื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 ไร่ ใช้น้ำ 583 ลบ.ม. เป็นต้น

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 ของรัฐบาล โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด (จังหวัดกรุงเทพฯ กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ตาก นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พิจิตร พิษณุโลกพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อ่างทอง อุตรดิตถ์) และพื้นที่ภัยแล้งทั่วไป 55 จังหวัด ที่ต้องการให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้มีรายได้จากกิจกรรมอื่นทดแทน

--------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ