ที่ประชุมพิจารณาประเด็นการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ดังนี้
1. เรื่อง ความคืบหน้าการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการรวมกันผลิตและร่วมกันจำหน่าย โดยมีตลาดรองรับที่แน่นอน การทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต มีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น รวมทั้ง ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เป้าหมาย รวม 268 แปลง โดยมีแปลงต้นแบบจังหวัดละ 1 แปลง รวม 76 แปลง เพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบในการผลิตสินค้าเกษตร แปลงทั่วไป 192 แปลง
ทั้งนี้ จากเป้าหมาย 76 จังหวัด ณ วันที่ 15 มกราคม 2559 ได้มีการจัดตั้งทีมดำเนินการ 4 ทีม คือ ทีมบริหารจัดการ ทีมตลาด ทีมลดต้นทุน และทีมผู้จัดการแปลง ผลดำเนินงานร้อยละ 52.6
การจัดทำแผนปฏิบัติการแปลงใหญ่ (แปลงต้นแบบ) ร้อยละ 82.9 การจัดทำข้อมูลแผนที่รายแปลงและรายละเอียดข้อมูลเกษตรกร ร้อยละ 61.8 การจัดทำข้อมูลพื้นฐานภาวะเศรษฐกิจและสังคมของเกษตร ร้อยละ 63.2
2. การแก้ไขปัญหายางพารา ได้แก่ โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรชาวสวนยาง และช่วยเหลือค่าครองชีพเจ้าของสวนยางและหรือผู้เช่าและคนกรีดยาง อัตราไร่ละ 1,500 บาท จำนวน 850,000 ครัวเรือน วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 13,124 ล้านบาท ผลการดำเนินงาน การจ่ายเงิน ณ วันที่ 18 มกราคม 2559 รวมจ่ายเงินทั้งสิ้น จำนวน 68.201 ล้านบาท และจากการที่กระทรวงพาณิชย์จัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจการค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง (23 ก.ค. 58) จาก 17 ประเทศ มีปริมาณการซื้อขายยางพาราภายใน 1 ปี รวมกว่า 585,450 ตัน มีการส่งมอบแล้ว จำนวน 190,310 ตัน และได้กำหนดจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจผลิตภัณฑ์ยางกับผู้นำเข้าจากต่างประเทศกว่า 50 ราย ในวันที่ 29 ม.ค. 59
3. ความคืบหน้าการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานรายงานสรุปความก้าวหน้าโครงการแก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำชายแดนระหว่างประเทศ ระยะเร่งด่วนดำเนินการร่วมกับกองทัพบก ของจังหวัดนครพนม คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จำนวน 6 โครงการ และที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2559 ของจังหวัดนครพนม จำนวน 3 โครงการ จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 6 โครงการ ปัจจุบันเสร็จแล้ว 1 โครงการ ของจังหวัดบึงกาฬคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2559 จำนวน 2 โครงการ จังหวัดหนองคาย จำนวน 4 โครงการ ภายในเดือนพฤษภาคม 2559 จังหวัดบึงกาฬ จะแล้วเสร็จ จำนวน 2 โครงการ จังหวัดหนองคาย จำนวน 2 โครงการ และจังหวัดเลย จำนวน 3 โครงการ มีการดำเนินงานขุดลอกคูคลอง จำนวน 490 โครงการ ใน 126 อำเภอ 47 จังหวัด ขุดลอกคูคลองใหม่ จำนวน 160 โครงการ ใน 61 อำเภอ 33 จังหวัด
คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยังมีมาตรการควบคุมการระบายน้ำและ การจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งโดยการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต การชะลอหรือขยายเวลาชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน การจ้างแรงงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร การเสนอโครงการพัฒนาอาชีพ การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการให้ความช่วยเหลือมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ
ทั้งนี้ ในการใช้น้ำของเกษตรกรเพื่อทำนาปรังในช่วงเดียวกันของปี 2558 มีเกษตรกรทำนาปรังลดลงประมาณแสนกว่าไร่ แสดงว่าเกษตรกรที่ได้รับทราบข้อมูลจากรัฐบาลถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้
นอกจากนี้ที่ประชุมรับทราบมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ผลงานเด่นประจำเดือนธันวาคม 2558 (กระทรวงการคลัง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงศึกษาธิการ) ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในรายงานการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผลกระทบจากปัญหาการบินพลเรือน ความคืบหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการดำเนินการของศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน (GovChannel) ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในสรุปรายงานการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงาน ตามนโยบายรัฐบาล (ระหว่างวันที่ 12 กันยายน 2557-30 พฤศจิกายน 2558) กลไกประชารัฐ รวมทั้ง ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรีที่สำคัญ
***************************************
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th