HRW ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาล (Non-Governmental Organisation) จัดทำรายงานลักษณะดังกล่าวเป็นประจำทุกปี เพื่อสรุปสถานการณ์ภาพรวมด้านสิทธิมนุษยชนของทุกประเทศทั่วโลก โดยสถานการณ์ในประเทศไทยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายงาน
โดยรวมแล้วเห็นว่า รายงานประจำปี ๒๕๕๙ ดังกล่าวไม่สะท้อนถึงพัฒนาการเชิงบวกอันเป็นผลจากการดำเนินการอย่างจริงจังของรัฐบาลในหลายประการ แต่เป็นการวิจารณ์ประเด็นที่มีความคืบหน้า เช่น การแก้ไขปัญหาด้านการค้ามนุษย์ทั้งในเรื่องบทบาทของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียการจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องในขบวนการค้ามนุษย์ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทย การยกฟ้องคดีภูเก็ตหวาน การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข
ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งที่รายงานดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนและมิได้สะท้อนถึงกระบวนการปฎิรูปซึ่งมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยรัฐบาลไทยยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการตาม Roadmap เพื่อนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง สังคมที่ปรองดองและบ้านเมืองที่มีเสถียรภาพ ตามกรอบระยะเวลาที่ระบุไว้ชัดเจนตาม Roadmap โดยจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๐ และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐ ซึ่งขณะนี้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมมีความคืบหน้าตามแผนที่กำหนดไว้ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเตรียมเปิดเผยรายละเอียดในร่างแรกต่อสาธารณชนในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๙ หลังจากนั้นจะนำร่างรัฐธรรมนูญไปลงพื้นที่เพื่อสอบถามความเห็นจากประชาชนเพื่อนำมาปรับแก้ให้เป็นร่างสุดท้าย (ภายในเดือนเมษายน ๒๕๕๙) ก่อนนำไปทำประชามติ ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญจะมีความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับได้จากทุกฝ่าย โดยมองปัญหาของประเทศในห้วงที่ผ่านมา เพื่อมิให้เกิดขึ้นอีก และช่วยแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่สั่งสมมานาน นอกจากนั้น ในช่วง ๑ ปีที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ได้เสนอกฎหมายเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว จำนวน ๑๖๔ ฉบับ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมายและสอดคล้องตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
ในประเด็นเรื่องเสรีภาพของประชาชนนั้น ขอยืนยันว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิบัติสากล ดังเห็นได้ว่าสื่อหลายสำนักสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเสรี อย่างไรก็ดี มีความจำเป็นต้องคำนึงถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันความแตกแยกในสังคมด้วย เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการปฏิรูปเพื่อนำสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคงและความสามัคคีภายในชาติ
สำหรับการดำเนินคดีในศาลทหารตามที่กล่าวในรายงานนั้น ขอยืนยันว่ารัฐบาลไทยยึดมั่นในกระบวนการตามกฎหมาย ปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกควบคุมอย่างถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยกระบวนการภายในศาลทหารไม่แตกต่างจากวิธีพิจารณาความอาญาภายใต้ศาลอาญาปกติ โดยจำเลยได้รับสิทธิเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ปัจจุบัน พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารคือกลุ่มตามฐานความผิดที่จำกัดเพียง ๔ ประเภท ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๓/๒๕๕๘ เท่านั้น ได้แก่ ความมั่นคงแห่งชาติ ความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความผิดเกี่ยวกับอาวุธสงคราม และการขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ข่าวสารนิเทศ
กระทรวงการต่างประเทศ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th