ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทฯ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

ข่าวทั่วไป Monday February 8, 2016 13:12 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคม ครั้งที่ 1 /2559

ในวันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2559) เวลา 9.00น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมครั้งที่ 1/2559

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ เวลาประมาณ 12.00น. ณ ห้องแถลงข่าวตึกนารีสโมสร ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) พร้อมด้วย นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้รวมแถลงสรุปผลการประชุมฯ ความว่า

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดังนี้เพื่อสู่ DIGITAL THAILAND หรือประเทศไทยที่สามารถสร้างสรรค์ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ และทรัพยากรอื่นใด เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล โดยแผนพัฒนาดิจิทัลฯ ได้แบ่งการพัฒนา Digital Thailand ไว้ 4 ระยะ ภายใน 20 ปี คือ เริ่มจากการสร้างรากฐานด้านดิจิทัล การก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม การปฏิรูปสู่ความเป็น Digital Thailand อย่างเต็มศักยภาพ และท้ายสุดคือการที่ดิจิทัลมีส่วนยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งแผนฯดังกล่าวมียุทธศาสตร์การขับเคลื่อน DIGITAL THAILAND 6 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุม ทั่วประเทศ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล การพัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และ 6) สร้างความเชื่อมั่น ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

ทั้งนี้ในช่วง 1 ปี 6 เดือนแรก ซึ่งเป็นระยะเวลาของการวางรากฐานดิจิทัลของประเทศให้พร้อม เพื่อเตรียมตัว ก้าวกระโดดในช่วงถัดไป กระทรวงไอซีทีกำลังเร่งดำเนินการหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 4 ด้าน ตัวอย่างเช่น ด้านการขยายโครงสร้างพื้นฐาน มี Free Wi-Fi 10,000 จุดทั่วประเทศ บรอดแบนด์หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงทุกหมู่บ้าน และมีการขยายความจุของเคเบิลใต้น้ำเป็น 2 เท่า ด้านเศรษฐกิจ มีการดำเนินการให้วิสาหกิจชุมชนและ SMEs สามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเพื่อการทำธุรกิจ โดยสร้างร้านค้าออนไลน์ชุมชนอย่างน้อย 10,000 ราย มีผู้ประกอบการ SMEs ค้าขายออนไลน์อย่างครบวงจร 15,000 ราย รวมถึงการสร้างให้ SMEs ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ท่องเที่ยวกลาง (Tourism Thailand Open Platform (B2B)) ที่สร้างขึ้นใหม่ และมีการ บ่มเพาะผู้ประกอบการ Tech Startup 1,500 รายต่อปี มี Smart City ซึ่งนำร่องที่ภูเก็ตและเชียงใหม่ ด้านสังคม จะมีการพัฒนาระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคลนำร่องก่อนใน 4 จังหวัด มีศูนย์ดิจิทัลชุมชนต้นแบบ 600 แห่ง ทั่วประเทศ (และจะขยายไปทุกตำบลทั่วประเทศต่อไป) มีเกษตรกรมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 1,600 ราย มีการอบรมทักษะดิจิทัลให้ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ 4,000 คน มีระบบจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในระบบเปิดสำหรับมหาชน (MOOC) และที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือจะเปิดตัวโมบายแอปพลิเคชั่นสอนภาษาอังกฤษแก่ประชาชนที่นายกรัฐมนตรีสั่งการเร่งด่วน ภายใน 1 เดือนนี้ด้วย ส่วนด้านบริการภาครัฐ มีบริการภาครัฐในรูปแบบ Smart Service เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ ถึง 79 บริการ และบริการโครงสร้างพื้นฐานกลางภาครัฐ

นอกจากนั้น ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ร่าง แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย (พ.ศ. 2559-2561) ซึ่งกระทรวงไอซีทีได้มอบหมายให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA รับผิดชอบดำเนินการจัดทำร่างแผนฯ ดังกล่าวขึ้น เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลให้ตอบสนองต่อความต้องการของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ รวมถึงให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกับระดับสากล

รวมทั้ง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการพัฒนาศูนย์ข้อมูลในประเทศ (Data Center) ซึ่งภาครัฐเตรียมยกเครื่องระบบ IT ก้าวสู่ยุค Digital Government เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดการใช้งบประมาณ มุ่งพัฒนาบริการสู่ประชาชน โดยยกระดับการบูรณาการศูนย์ข้อมูล (Data Center) สู่ระบบคลาวด์ (Cloud) พร้อมสนับสนุนภาคเอกชนพัฒนาบริการบนคลาวด์ ในรูปแบบ Software as a Service (SaaS) เพื่อให้บริการแก่ภาครัฐ ลดเวลาการจ้างพัฒนาระบบของหน่วยงาน ลดค่าใช้จ่าย และภาระในการดูแล โดยเฉพาะระบบที่เหมือนกัน หรือคล้ายกัน เช่น ระบบการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐ (Back Office) เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถที่จะพัฒนาการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำมาสร้างบริการใหม่ ๆ ให้แก่ประชาชนได้อีกด้วย

ตอนท้ายของการที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลมุ่งหมายให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุม 30,000 หมู่บ้านที่ยังขาดแคลนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และทำการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของปริมาณการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัล ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) โดยจะขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศให้มีขนาดความจุรวมไม่น้อยกว่า 4,000 Gbps

************************************

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

อภิวัฒน์ / รายงาน

ดวงใจ / ตรวจ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ