ยูเนสโกประกาศให้ภูเก็ตเป็นเมืองแห่งความสร้างสรรค์ ด้านอาหาร ปี 2558

ข่าวทั่วไป Wednesday December 30, 2015 14:02 —สำนักโฆษก

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2558 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้เทศบาลนครภูเก็ตเป็นเมืองแห่งความสร้างสรรค์ด้านอาหาร (Phuket City of Gastronomy) ประจำปี 2558

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้รับสมัครเครือข่ายเมืองแห่งความสร้างสรรค์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศหรือภูมิภาค ใน 7 สาขา คือ 1) ด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน (Crafts and Folk) 2) ด้านการออกแบบ (Design) 3) ภาพยนตร์ (Film) 4) อาหาร (Gastronomy) 5) วรรณกรรม (Literature) 6) มีเดีย อาร์ต (Media Arts) 7) ดนตรี (Music)

ซึ่งในปี พ.ศ.2558 ได้มีเมืองที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองแห่งความสร้างสรรค์ของยูเนสโก จำนวน 47 เมืองจาก 33 ประเทศในทุกสาขา โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องด้านอาหารนั้นมี 9 เมืองที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ได้แก่ Belem (บราซิล), Bergen (นอร์เวย์), Burgos และ Denia (สเปน), Ensenada (เม็กซิโก), Gaziantep (ตุรกี), Parma (อิตาลี) และ Tucson (สหรัฐอเมริกา) รวมทั้งภูเก็ต (ไทย)

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2558, Mrs. Irina Bokova ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ได้ประกาศให้เทศบาลนครภูเก็ตเข้าร่วมเป็นหนึ่งใน 47 เมืองจาก 33 ประเทศ เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของเมืองแห่งความสร้างสรรค์ (Creative Cities) ด้านอาหาร (Phuket City of Gastronomy) ประจำปี 2558 ซึ่งเป็นประเทศเดียวในทวีปเอเชีย โดยเทศบาลนครภูเก็ตสามารถนำชื่อและตราสัญลักษณ์ขององค์การยูเนสโกไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ด้วย

การที่ภูเก็ตได้รับการคัดเลือก เนื่องจากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกับเทศบาลนครภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำข้อเสนอเพื่อเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities) ของยูเนสโกในสาขา Gastronomy เพราะเห็นว่าภูเก็ตเป็นเมืองอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรมอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ในภูมิภาคเอเชีย อาทิ อาหารทะเลอันดามัน อาหารไทย อาหารบาบ๋าท้องถิ่น และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป

นอกจากนี้ การพัฒนาเมืองภูเก็ตยังคำนึงถึงการสร้างนวัตกรรมบนพื้นฐานการอนุรักษ์อัตลักษณ์ท้องถิ่น รวมทั้งคำนึงถึงการวิจัยพัฒนา โดยมีแผนการพัฒนาเมืองในระยะยาว และได้ประกาศแผนพัฒนาจังหวัดในปี 2558 เพื่อให้ภูเก็ต “เป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติ บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน” อีกทั้งภูเก็ตยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ศูนย์การประชุมนานาชาติ ศูนย์ฝึกอบรมด้านอาหาร และศูนย์วิจัยที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่นานาประเทศ พร้อมทั้งมีสถาบันการศึกษาระดับสูงที่เปิดสอนด้านวิทยาการอาหาร ที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนและเอื้อประโยชน์ให้แก่เมืองเครือข่ายอื่นๆ ของยูเนสโก

ดังนั้น การประกาศให้เทศบาลนครภูเก็ตเป็นเมืองเครือข่ายสร้างสรรค์ของยูเนสโก จึงนับเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะความโดดเด่นในอุตสาหกรรมทางด้านอาหาร และจะได้รับประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ บุคลากร ทรัพยากรร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ ของยูเนสโกในอนาคตด้วย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการในฐานะคณะกรรมการยูเนสโก ก็ความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและร่วมดำเนินการกับเทศบาลเมืองต่างๆ ของไทย เพื่อผลักดันให้สามารถเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ทั้ง 7 สาขาของยูเนสโกในอนาคตต่อไป

รายละเอียดเพิ่มเติม : http://en.unesco.org/creative-cities/events/47-cities-join-unesco-creative-cities-network

ขอบคุณ : ข้อมูลจากสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.

อรพรรณ ฤทธิ์มั่น

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ