นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข รายงานมีผู้บาดเจ็บจากจราจรเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ 5 วัน ทั้งแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในรวม 21,003 คน พบว่าร้อยละ 33.40 ดื่มสุรา และสวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 16 โดยในวันนี้ (3 มกราคม 2559) เป็นช่วงท้ายๆ ของเทศกาลปีใหม่ ทุกปีจะต้องระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุใน 2 กลุ่มหลัก คือ 1.ในกลุ่มผู้ที่ต้องเดินทางกลับบ้านหรือกลับเข้าทำงานหลังหยุดยาว จะมีสาเหตุจากหลับใน เนื่องจากความเหนื่อยล้าของร่างกายหลังจากเฉลิมฉลองอย่างหนักหลายวัน ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดอาการง่วงจนถึงหลับใน โดยใน 4 วันของเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา พบอุบัติเหตุสาเหตุจากหลับใน ทำให้บาดเจ็บสูงถึง 48 ครั้ง และเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต 18 ครั้ง โดยในแต่ละครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้มีผู้ร่วมทางบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะหากเป็นผู้ขับขี่รถสาธารณะ
ทั้งนี้ ผลของการง่วงจะทำให้ประสาทสัมผัสทุกอย่างช้าลง สมองตื้อ ตัดสินใจผิดพลาด ใจลอย ไม่มีสมาธิ เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขัน จึงแตะเบรกได้ช้ากว่าปกติ มีผลวิจัยจากต่างประเทศระบุว่าคนที่ง่วงแล้วขับไม่ต่างกับคนเมาแล้วขับ คนที่อดนอนติดต่อกัน 18 ชั่วโมง ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายลดลงเท่ากับคนที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โอกาสเกิดอุบัติเหตุ 2 เท่าตัว และถ้าอดนอนนาน 24 ชั่วโมง จะเท่ากับมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ความสามารถขับรถลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ โอกาสเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มเป็น 6 เท่าตัว
ดังนั้น ผู้ขับรถต้องเตรียมความพร้อมของร่างกายพักผ่อนให้เต็มที่อย่างน้อย 8 ชั่วโมง งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงซึมได้ เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ ยาคลายเครียด เป็นต้น หาเพื่อนร่วมทางพูดคุย ผลัดกันขับรถ หยุดพักรถทุกๆ 150 กิโลเมตร หรือทุก 2 ชั่วโมง แม้ว่าจะยังไม่รู้สึกเหนื่อย สังเกตสัญญาณของอาการง่วง ได้แก่ หาวบ่อยๆ ใจลอยไม่มีสมาธิ รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาในช่วง 2-3 กิโลเมตรที่ผ่านมา ลืมตาไม่ขึ้น ตาปรือ มองเห็นภาพไม่ชัด มึนหนักศีรษะ ขับรถส่ายไปมาหรือออกนอกเส้นทาง และมองข้ามสัญญาณไฟ ป้ายจราจร หากมีอาการดังกล่าว ขอให้จอดรถเพื่องีบหลับ หรือเปลี่ยนให้ผู้อื่นขับรถแทน
กลุ่มที่ 2 คือในกลุ่มผู้ที่อยู่ในพื้นที่และฉลองเทศกาลต่อ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งด่านชุมชนต่อเนื่อง เพื่อป้องกัน ป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยง เพราะสถิติการเกิดอุบัติเหตุปีนี้พบมากในผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มากกว่าร้อยละ 80 เกิดในถนนสายรองมากถึงเกือบ ร้อยละ 40 ลักษณะอุบัติเหตุที่พบส่วนใหญ่คือล้มเอง และพบการบาดเจ็บเสียชีวิตจากการถูกรถชนจากเมาสุราแล้วขับรถออกจากหมู่บ้านไปถนนสายหลัก หรือชนรถคันอื่นหรือสิ่งกีดขวางอื่นๆ
************************* 3 มกราคม 2559
ที่มา: http://www.oic.or.th