รัฐมนตรีฯ เกษตร แจงคืบหน้าแผนการบริหารจัดการโครงการ นมโรงเรียน มิลล์บอร์ดออกประกาศหลักเกณฑ์ แนวทางการปฏิบัติ ในภาคเรียนที่ 2

ข่าวทั่วไป Monday January 4, 2016 15:05 —สำนักโฆษก

รัฐมนตรีฯ เกษตร แจงคืบหน้าแผนการบริหารจัดการโครงการ นมโรงเรียน มิลล์บอร์ดออกประกาศหลักเกณฑ์ แนวทางการปฏิบัติ ในภาคเรียนที่ 2 เข้มมาตรการควบคุม ตั้งแต่น้ำนมดิบ ฟาร์มโคนม ผู้ประกอบการ การขนส่งและการเก็บรักษา

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มอบนโยบายและแนวทางในการพัฒนาโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานของนมโรงเรียนให้สูงขึ้นภายในปี 2560 คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม โดยมี ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ) เป็นประธาน ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติและการจัดสรรสิทธิพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียนภาคเรียนที่ 2/2558 และได้มีประกาศคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม เรื่อง หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ภาคเรียนที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558

การดำเนินการตามประกาศดังกล่าวเป็นแนวทางที่สำคัญในการพัฒนาการบริหารโครงการตามนโยบายฯ ผลจากการดำเนินงานจะทำให้นักเรียนได้รับผลิตภัณฑ์นมที่ยกระดับคุณภาพนมทั้งด้านองค์ประกอบของน้ำนมและความสะอาด รวมถึงสุขอนามัยและความสะอาดของแหล่งผลิต โรงเรียนและหน่วยจัดซื้อ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงเรียนจะได้รับบริการที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น

การจัดสิทธิการจำหน่ายในครั้งนี้ ได้พัฒนาขึ้นจากภาคเรียนที่ผ่านมาโดยใช้จำนวนนักเรียน 7,668,486 คน ที่ได้ดื่มนมมาคำนวณความต้องการน้ำนมในโครงการฯ ซึ่งต้องผลิตจากฟาร์มโคนมที่ผ่านมาตรฐาน GAP และศูนย์รับนมที่ผ่านมาตรฐาน GMP ที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรอง 167 แห่ง ปริมาณน้ำนมที่ใช้จัดสรรสิทธินี้ปริมาณ 1,170.75 ตัน ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 72 ราย จะต้องยืนยันระหว่างกันเพื่อรับรองการซื้อขาย หรือ ข้อตกลงร่วมกัน หรือ MOU ตลอดทั้งปี 365 วัน เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำนมโค ทั้งยังเปิดโอกาสให้สิทธิศูนย์รวบรวมน้ำนมโคสามารถนำน้ำนมจากตลาดนมพาณิชย์มาใช้ตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศได้โดยไม่เกินปริมาณการจัดสิทธิ 1,170.75 ตัน ไม่ต้องยึดโยงกับ MOU นมโรงเรียนเดิม และเพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีความพร้อมด้วยได้

ในการจัดสิทธิครั้งนี้มีผลต่อกลุ่มผู้ประกอบการ (ผู้ซื้อ) บางราย ที่ศูนย์รวบรวมน้ำนม(ผู้ขาย)เปลี่ยนไปขายให้ผู้ประกอบการรายอื่น หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากผู้ที่ได้รับสิทธิการจำหน่ายจากกองกลาง และกลุ่มที่มีคุณภาพน้ำนมไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ ปริมาณน้ำนมจากกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้มีปริมาณ 88.934 ตัน คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมได้พิจารณาลดผลกระทบให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ร้อยละ 50 หรือ คิดเป็นปริมาณน้ำนมประมาณ 44.47 ตัน โดยได้รับความร่วมมือจาก อ.ส.ค.และผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ เป็นอย่างดี ส่วนผู้ประกอบการบางรายหรือศูนย์รับนมที่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าว อ.ส.ค.พยายามช่วยเหลือโดยลดสิทธิการจำหน่ายของ อ.ส.ค.ลง ให้ส่งนมในตลาดนมพาณิชย์ หรือการแลกเปลี่ยนพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียนต่อไป

การดำเนินงานบริหารจัดการใหม่นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เพิ่มมาตรการควบคุมกำกับดูแลทุกขั้นตอนที่เข้มข้นขึ้น ตั้งแต่น้ำนมดิบ ฟาร์มโคนม ผู้ประกอบการ เกษตรกร การขนส่งและการเก็บรักษา หากผู้ประกอบการฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น จะมีบทลงโทษ โดยคณะกรรมการโคนมฯ มีมาตรการลดสิทธิ และตัดสิทธิ ในการจำหน่าย ตั้งแต่ความเสียหายน้อยไปจนถึงความเสียหายมากทั้งยังต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยมีคณะอนุกรรมการต่าง ๆ คณะทำงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ติดตาม รวมถึงได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับควบคุมจะเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบและรายงานผลอย่างต่อเนื่อง

การดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียนในครั้งนี้ จะมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และเป็นหลักเกณฑ์ที่ยึดถือต่อไปเพื่อให้นักเรียนทั่วประเทศได้ดื่มนมที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง รวมถึงสามารถพัฒนาการผลิตน้ำนมของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์โคนมอย่างยั่งยืน

กลุ่มโฆษกและวิเคราะห์ข่าว กองเกษตรสารนิเทศ

สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โทร 02-2810859 แฟกซ์ 02-2822871

moacnews@gmail.com

www.moac.go.th

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ