เช้าวันนี้ (5 มกราคม 2559) ที่ ทำเนียบรัฐบาล กทม. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมชมกิจกรรมการตรวจคัดกรองสายตาเด็กนักเรียน และมอบแว่นสายตาให้ตัวแทนเด็กนักเรียน เปิดตัวโครงการเด็กไทยสายตาดี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจัดขึ้นเพื่อมอบเป็นของขวัญวันเด็กปี 2559
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”สนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการ จัดกิจกรรมเพิ่มเวลารู้ด้านสุขภาพ เน้นเรื่องสายตาและการมองเห็น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้และพัฒนาการทางสมอง ทำให้พัฒนาการด้านอื่นตามมา โดยเฉพาะในเด็กอนุบาลและประถมศึกษา อายุ 3-12 ปี เป็นช่วงที่สำคัญต่อพัฒนาการทางสายตา หากไม่ได้รับการแก้ไขเสี่ยงพิการทางสายตาถาวร คาดว่ามีเด็กไทย 260,000 คนต้องใส่แว่นสายตา ได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือไฮแทป (HITAP) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดโครงการ “เด็กไทยสายตาดีเพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ตามนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ด้านสุขภาพ” ดีเดย์ในวันเด็กแห่งชาติ 9 มกราคม 2559 ตรวจสายตานักเรียน ชั้น ป.1 ในโรงเรียนทุกสังกัดพร้อมกันทั่วประเทศ และมอบแว่นสายตาในรายที่ผิดปกติ เพื่อเป็นของขวัญวันเด็กในปี 2559 นี้ และขยายผลในนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2560 ต่อไป
ด้าน นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการขยายผลจากที่ทดลองนำร่องคัดกรองสายตาผิดปกติในเด็กอนุบาลและประถมศึกษา อายุ 3-12 ปี ใน 10 จังหวัดเมื่อปี 2557 ผลการดำเนินงานพบว่าเด็กที่ได้รับการแก้ไขปัญหาสายตา ส่วนใหญ่มีผลการเรียนดีขึ้น มีความตั้งใจเรียนมากขึ้น โดยเขตสุขภาพทั้ง 12 เขตและ กทม. จะร่วมกับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จัดอบรมพยาบาลเวชปฏิบัติด้านตาในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 150 แห่ง ไปอบรมพยาบาลเวชปฏิบัติด้านตาในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมทั้งครูประจำชั้น ป.1 ทุกจังหวัด ให้มีความรู้และดำเนินการคัดกรองสายตาเด็กนักเรียนชั้น ป.1 หากพบความผิดปกติทางสายตา อาทิ สายตาสั้นยาวหรือเอียง หรืออื่นๆ จะส่งต่อเข้ารับการตรวจจากจักษุแพทย์ หากเด็กมีสายตาผิดปกติจะได้รับแว่นสายตาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายต่อไป
ข้อมูลจากไฮแทป ระบุเด็กไทยมีภาวะสายตาผิดปกติร้อยละ 6.6 จำเป็นต้องใส่แว่นตาร้อยละ 4.1 ซึ่งหากไม่ได้รับการตรวจและใส่แว่นตาจะเกิดภาวะตาขี้เกียจ และตาบอดตามมา ซึ่งภาวะตาขี้เกียจพบได้ร้อยละ 0.7 โรคตาอื่นๆ เช่น ตาเข ตาซ่อนเร้น หนังตาตกแก่กำเนิด ทั้งนี้ เด็กที่มีสายตาผิดปกติและจำเป็นต้องใส่แว่น มีร้อยละ 26 ที่มีแว่นสายตาใส่แต่มีเพียงร้อยละ 6 ที่ใส่แว่นสายตาถูกต้อง ซึ่งหากได้รับการคัดกรองตั้งแต่อายุยังน้อยและได้รับการแก้ไขปัญหาสายตาที่ถูกต้อง จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้เด็กไทยและช่วยเพิ่มคุณภาพประชากรของประเทศในอนาคต
************************* 5 มกราคม 2559
ที่มา: http://www.thaigov.go.th