รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้นำร่องโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 ขณะนี้ผลการประเมินโครงการพบว่า ภาพรวมของโครงการและผลตอบรับเรียบร้อยดี และมีความก้าวหน้าจำนวนมาก และมีบางส่วนที่ยังพบปัญหาอุปสรรค ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะเร่งดำเนินการแก้ไขในแต่ละจุด ตามที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการได้เสนอแนะต่อไป
โดยการแก้ไขปัญหา จะไม่ใช้วิธีการแก้แบบกวาดหรือแก้แบบรวมๆ แต่จะลงไปในรายละเอียดของจุดอ่อนแต่ละจุด เช่น การจัดกิจกรรมให้กับเด็กที่จะต้องเน้นทั้ง 4H คือ ด้านสติปัญญา (Head) ด้านทัศนคติ (Heart) ด้านเรียนรู้และปฏิบัติจริง (Hands) และด้านสุขภาพ (Health) แต่โรงเรียนบางแห่งยังเน้นเฉพาะกิจกรรมที่ถนัดหรือเก่งเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้ว่าการจัดกิจกรรมขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของแต่ละโรงเรียน จะจัดให้ได้ดีเหมือนกันทั้งหมดคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการก็จะต้องช่วยเหลือ ปรับแก้ ดูแลและสนับสนุนความรู้ วิธีการ เทคนิค ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ แก่โรงเรียนเหล่านั้นเพิ่มเติมต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้โครงการนี้จะทำให้นักเรียน ผู้ปกครอง และครูมีความสุข แต่ก็ยังมีตัวชี้วัดสำคัญที่จะสามารถบ่งบอกว่าโครงการสำเร็จหรือไม่ ซึ่งก็คือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ที่จะช่วยตอบโจทย์เด็กไทยใช้เวลาเรียนในห้องเรียนมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก คือประมาณ 1,200 ชั่วโมงต่อปี ทั้งที่เด็กในประเทศอื่นๆ ไม่ได้ใช้เวลาเรียนมากขนาดนี้แต่ก็สามารถแข่งขันได้
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาอุปสรรคของโครงการจะค่อยๆ ปรับแก้ และจะสรุปรายละเอียดภาพรวมภายหลังดำเนินโครงการนำร่องในช่วงปิดภาคเรียนนี้ เพื่อเตรียมการรับมือโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการรอบใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องระดมทุกฝ่ายมาร่วมกัน โดยเฉพาะครูที่จะต้องเป็นกำลังสำคัญต่อไป
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th