นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม แถลงข่าวว่า สำนักงานประกันสังคมได้มีการปฏิรูประบบประกันสังคม ปฏิรูปการบริหารองค์กร ให้มีหลักธรรมาภิบาล เป็นที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจทั้งลูกจ้าง ผู้ประกันตน และนายจ้าง และเร่งรัดจัดตั้ง “สำนักงานกองทุนเงินทดแทน” ให้มีสถานะเป็นกองตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการแล้ว และเน้นดำเนินการปฏิรูปไปแล้ว 4 เรื่อง ได้แก่ การปฏิรูปจัดเก็บเงินสมทบ โดยใช้รหัสประเภทกิจการตามมาตรฐานสากล TSIC มาใช้ในการจัดเก็บเงินสมทบ เพื่อให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบตามความเป็นจริง เหมาะสมกับความเสี่ยงของกิจการและลดอัตราการปรับเพิ่มเงินสมทบตามค่าประสบการณ์
พร้อมมีการปฏิรูปค่ารักษาพยาบาลโดยให้สิทธิรักษาพยาบาลตามความเป็นจริงจนสิ้นสุดการรักษากรณีรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐ (เดิมกำหนดเพดานสูงสุดไม่เกิน1 ล้านบาท) และการเพิ่มสิทธิประโยชน์และคุ้มครองลูกจ้างส่วนราชการในหลายกรณี มีการปฏิรูปบริการทางการแพทย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการให้บริการ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรักษาโรคและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ประกันตนและสถานะของกองทุนประกันสังคมในภาพรวม
อีกทั้งมีการปฏิรูปการบริการ ด้วยการเพิ่มช่องทางการรับจ่ายเงิน E – Service ผ่านทางธนาคาร และรับชำระผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส เพื่อให้บริการนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนด้วยความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นและยังมีการปฏิรูปการลงทุนซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งกองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนรวม 1.38 ล้านล้านบาท โดยในปี 2558 กองทุนประกันสังคมมีผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวน 44,894 ล้านบาท กองทุนเงินทดแทนมีผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวน 1,681 ล้านบาท สำหรับในปี 2559 สำนักงานประกันสังคมกำลังจัดทำแผนการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อกระจายเงินลงทุนจากตราสารหนี้ในประเทศไทยไปยังสินทรัพย์ทั่วโลก เพื่อเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนด้วยและเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ประกันตนว่า สำนักงานประกันสังคมมีความพร้อมในการเสริมสร้างเสถียรภาพให้มีการบริหารงานอย่างบูรณาการและเป็นมืออาชีพ พร้อมรักษาสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างสูงสุด
จากนั้น นายกรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแถลงข่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้มีการพัฒนาทักษะฝีมือคนไทยรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่ง สอดคล้องตามแนวนโยบายรัฐบาล โดยในปีงบประมาณ 2558 ได้พัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานไทย จำนวนทั้งสิ้น 1,229,440 คน ในปีงบประมาณ 2559 กรมฯ ได้จัดทำแผนการพัฒนาทักษะฝีมือคนไทย ในสาขาต่างๆ อาทิ ด้านโลจิสติกส์ เทคโนโลยียานยนต์ การก่อสร้าง ท่องเที่ยวบริการ ด้านไอที และการฝึกอบรมภาษาต่างประเทศ และพัฒนาทักษะฝีมือคนไทย เพื่อรองรับการค้า การลงทุนขยายโครงสร้างพื้นฐาน และการคมนาคมของประเทศในอนาคต ตลอดจนการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อวัดระดับความสามารถในการปฏิบัติงาน มีเป้าหมายทั้งสิ้น 1,239,544 คน ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบัน มีผลการดำเนินงานทั้งสิ้น 141,308 คน
อีกทั้งมีการพัฒนาทักษะฝีมือสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามความต้องการของแต่ละสถานที่โดยได้จัดโครงการฝึกอบรมฝีมือแรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด คือ สงขลา ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี โดยในปี 2558 ได้ดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงานรองรับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ มีผลดำเนินงาน 40,604 คน และในปี 2559 มีเป้าหมายดำเนินการ.19,800 คน
ตลอดจนการพัฒนาฝีมือและศักยภาพกลุ่มเครือข่ายแรงงานนานาชาติ CLMV (กัมพูชา/ลาว/เมียนมา/เวียดนาม) เป้าหมาย 2,000 คน มีผลดำเนินงาน 571 คน รวมทั้งมีการบูรณาการฝึกอบรมฝีมือแรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 13 ประเภทกิจการ ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และพัฒนาทักษะฝีมือคนไทยรองรับอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ (Cluster ,Super Cluster) สอดคล้องกับพื้นที่เป้าหมาย 15,000 คนซึ่ง ดำเนินการแล้ว 8,212 คน ตลอดจนมีการฝึกอบรมฝีมือแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป้าหมาย 65,317 คน ในทุกโครงการ ซึ่งมีผลดำเนินงาน 37,246 คน
อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแถลงเพิ่มเติมว่า ได้ดำเนินโครงการสร้างทักษะแรงงาน/วิชาชีพ (ลาว/กัมพูชา/เมียนมา) โดยได้รับงบประมาณความร่วมมือระหว่างประเทศ จากกระทรวงการต่างประเทศ ในการดำเนินการฝึกอบรมให้แก่แรงงานบริเวณตะเข็บชายแดนไทย ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร ตราด สระแก้ว กาญจนบุรี ตาก และเชียงราย ให้มีทักษะฝีมือ ตอบสนองความต้องการสถานประกอบกิจการ ซึ่งในปี 2558 สามารถดำเนินการได้ 1,561 คน และในปี 2559 มีเป้าหมายการดำเนินงานอีก 892 คน
นอกจากนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานยังมีนโยบายการเพิ่ม Productivity ให้กับ กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสถานประกอบกิจการให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งเมื่อปี 2558 ได้ดำเนินการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ให้สถานประกอบกิจการ SMEs จำนวน 260 แห่ง ใน 19 กลุ่มธุรกิจ สามารถลดการสูญเสียในวงจรการผลิตได้ประมาณ 603,338,715 บาท และฝึกอบรมพนักงานของสถานประกอบกิจการ จำนวน 16,796 คน ในปีงบประมาณ 2559 มีเป้าหมายดำเนินการให้แก่สถานประกอบกิจการ 260 แห่ง ใน 20 กลุ่มธุรกิจ ให้สถานประกอบกิจการ SMEs และสถานประกอบกิจการขนาดใหญ่โดยมีพนักงานที่เข้าร่วมโครงการกว่า 20,900 คน
ขณะเดียวกันยังมีการจัดทำภารกิจเพื่อพัฒนากำลังแรงงาน ในนโยบาย “การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้” เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษาทางเลือกไปพร้อมกัน ด้วยการพัฒนาคนให้มีทักษะฝีมือ และความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการจ้างงานเพื่อเพิ่มสมรรถนะในมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติที่สอดคล้องกับการจ้างงาน โดยไปปรับเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษา
อนึ่ง ตามที่ธนาคารโลกได้กล่าวถึง ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทย ซึ่งภาคอุตสาหกรรม และภาคการผลิตเป็นกังวลนั้น กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ ได้ตั้งเป้าในการพัฒนากำลังแรงงานไทย และรองรับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมทุกด้าน เป็นจำนวน 3,676,180 คน ขณะนี้ดำเนินการได้แล้ว 449,869 คน อาทิเช่น การเพิ่ม Productivity ให้กับลูกจ้างของตนเอง การพัฒนาแรงงานให้มีทักษะที่หลากหลาย ( Multi Skills ) ตลอดจนการเปิดโอกาสให้สถานประกอบกิจการเป็นผู้กำหนดเนื้อหาการฝึกอบรม เลือกวิทยากร และระยะเวลาการฝึกอบรมเอง ซึ่งเป็นการฝึกอบรมที่ตอบสนองความต้องการของนายจ้าง 100% อีกด้วย
**********************************
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
อภิวัฒน์ / รายงาน
ดวงใจ / ตรวจ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th