นายกรัฐมนตรีย้ำให้กอ.รมน.ร่วมมือกับประชาชนทุกภาคส่วนในการทำให้ประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Wednesday February 10, 2016 11:34 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสรุปผลการปฏิบัติงาน ประจำปี 2558 และแถลงแผนการปฏิบัติงาน ประจำปี 2559 ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ย้ำให้กอ.รมน.ร่วมมือกับประชาชนทุกภาคส่วนในการทำให้ประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืน

วันนี้ (10ก.พ.59) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นประธานการประชุมสรุปผลการปฏิบัติงาน ประจำปี 2558 และแถลงแผนการปฏิบัติงาน ประจำปี 2559 ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พร้อมมอบนโยบายในการดำเนินงานด้านความมั่นคงให้แก่ผู้บริหารระดับสูง ผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคง และหน่วยขึ้นตรงของ กอ.รมน.เพื่อให้ยึดเป็นกรอบและแนวทางในการปฏิบัติต่อไป โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรองประธานกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พลเอก ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกและรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชการอาณาจักร คณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผบ.สส. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ผบ.ตร.) คณะที่ปรึกษา กอ.รมน. และเลขาธิการ กอ.รมน. หัวหน้าส่วนราชการด้านความมั่นคง ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 1 – 4 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคส่วนแยก ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ฝ่ายทหาร) ผู้บริหารระดับสูงของ กอ.รมน. กอ.รมน.ส่วนกลาง ผู้ปฏิบัติงานหลักของ กอ.รมน. เข้าร่วมงาน

สำหรับการจัดงานสรุปผลการปฏิบัติงาน ประจำปี 2558 และแถลงแผนการปฏิบัติงาน ประจำปี 2559 ของ กอ.รมน.ครั้งนี้ ประกอบด้วย การนำเสนอวีดิทัศน์และเอกสารแจกจ่ายเอกสาร รวมทั้งการจัดนิทรรศการแสดงผลงานที่สำคัญในปี 2558 ของศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 ถึง 6 สำนักกิจการมวลชนและสารนิเทศ ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 1 – 4 ตลอดจนการนำเสนอแผนการปฏิบัติงานในห้วงต่อไปโดยมุ่งเน้นการบูรณาการและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการรักษาความมั่นคงภายในตามประเด็นยุทธศาสตร์ของ กอ.รมน. พ.ศ. 2555 – 2559 และแผนรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรประจำปี 2558 – 2560 รวมถึงการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในประเด็นที่เกี่ยวข้อง

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องการมอบนโยบายในการดำเนินงานด้านความมั่นคงตอนหนึ่งว่า นโยบายต่าง ๆ ที่ได้มอบไปแล้วขอให้ดำเนินการให้ครบและสอดคล้องเชื่อมโยงกันทั้งหมด จากการนำเสนอวีดิทัศน์สรุปผลการปฏิบัติงาน ประจำปี 2558 และแถลงแผนการปฏิบัติงาน ประจำปี 2559 ของ กอ.รมน.นั้น เห็นได้ว่าทุกภาคส่วนและประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพื่อทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคง ปลอดภัย และยั่งยืน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นแนวทางของรัฐบาลชุดปัจจุบันและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินเพื่อทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนาคต ทั้งนี้ สิ่งที่ กอ.รมน. ได้ดำเนินการในปีที่ผ่านมามีผลสัมฤทธิ์เป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการผนึกกำลังร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งพลเรือน ตำรวจ และทหาร ในการทำงานร่วมกันถึงแม้จะมีอุปสรรคในด้านกฎหมาย วิธีการปฏิบัติ และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และวัฒนธรรมของแต่ละองค์กรที่อาจมีความแตกต่างกันบ้าง เพราะฉะนั้นวันนี้หน่วยงานราชการทุกคนต้องลดอัตตาของตนเองเพื่อร่วมมือกันกับประชาชนในพื้นที่ขับเคลื่อนการปฏิบัติงานไปให้ได้ และต้องใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่า ลดช่องว่างในการทำงานระหว่างกันและมีการบูรณาการสนับสนุนส่งเสริมการทำงานซึ่งกันและกันให้มีความเป็นเอกภาพ ทั้งในส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น โดยกอ.รมน.เข้าไปเสริมในด้านความมั่นคงเพื่อบูรณาการงานความมั่นคงเข้ากับกลุ่มงานอื่น ๆ ด้วย

พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณ กอ.รมน. และประชาชนทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมกันทุ่มเทเสียสละในการทำงานมาโดยตลอดปี 2558 และขอให้นำปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาในปี 2558 มาปรับปรุงแก้ไขในปี 2559 และนำสิ่งใหม่ ๆ เข้าไปเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งเน้นการสร้างเสถียรภาพของประเทศในทุกมิติทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การต่างประเทศ โดยขับเคลื่อนบูรณาการทำงานทั้งหมดผ่านการกำกับดูแลของรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 6 คน โดยมีกระทรวงนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน

อย่างไรก็ตามการรักษาความมั่นคงภายในถือเป็นสิ่งสำคัญและเป็นรากฐานของทุกเรื่อง หากประเทศชาติไม่มีความมั่นคง ไม่มีเสถียรภาพ ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ประเทศก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะฉะนั้น นอกจากข้าราชการแล้ว กอ.รมน.จะต้องมีหน้าที่ปลูกฝังให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังมิติด้านความมั่นคงอีกทางหนึ่ง รวมทั้งการปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ โดยเคร่งครัด เพื่อเป็นพื้นฐานทำให้สังคมเกิดสงบสุขและป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นอีก อีกทั้งทุกภาคส่วนต้องเตรียมความพร้องรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตภายใน 5 ปีข้างหน้า ตลอดจนการเตรียมความพร้อมประเทศและแรงงานรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการเข้าสู่การใช้เครื่องจักรเต็มรูปแบบ หรือเทคโนโลยี โดยเฉพาะประชาชนผู้มีรายได้น้อยจะต้องสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ ซึ่ง กอ.รมน.ต้องมองในมิติดังกล่าวไปพร้อมกับเรื่องความมั่นคงด้วยให้ประชาชนในพื้นที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็ง โดยขณะนี้ รัฐบาลกำลังดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การดำเนินการประชารัฐ การสร้างห่วงโซ่การผลิตต่าง ๆ ให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบตั้งแต่กระบวนการผลิต แปรรูป สร้างนวัตกรรม และการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางปฏิบัติและประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานและดำเนินชีวิต เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนก่อนพัฒนาขยายไปสู่ในระดับประเทศต่อไป

อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า มี 2 ประเภท คือ 1) ภัยคุกคามแบบเดิม เช่น เรื่องปัญหาชายแดน อธิปไตยตามแนวชายแดน และ 2) ภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ซึ่งมีหลายรูปแบบและซับซ้อนมากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้เกิดความมั่นคงและสงบเรียบร้อยภายในประเทศต้องมีการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาแบบองค์รวมและพิจารณาให้เห็นถึงต้นเหตุแห่งปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้ รู้ถึงปัญหาหลัก ปัญหารอง และปัญหาเสริม ซึ่งวิธีในการบริหารจัดการต้องดำเนินการให้สอดคล้องกันทั้งระบบ รวมถึงพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เป็นปัญหาเร่งด่วนและจำเป็นก่อน ส่วนที่เหลือก็ประคับประคองแก้ปัญหาในลำดับถัดไป เพื่อให้สามารถดำเนินการทั้งหมดไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน ขณะเดียวปัจจุบันก็มีศูนย์ประสานการปฏิบัติทั้ง 6 ศูนย์ ที่มีภาระหน้าที่ในการดูแลแต่ละเรื่องซึ่งการปฏิบัติงานตรงนี้ต้องเข้มแข็งและไม่เป็นเครื่องมือของบุคคลใด แต่ให้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศชาติและประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งการดำเนินการต่าง ๆ ต้องทำให้เกิดการรวมกลุ่มของงาน การรวมกลุ่มของผู้ปฏิบัติ และการรวมกลุ่มของผู้รับประโยชน์จากการปฏิบัติงานของภาคส่วนราชการและงานด้านความมั่นคง ตลอดจนจะต้องหาแนวทางให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นต้น

รวมทั้ง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งแรกในการแก้ปัญหาวันนี้ คือสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันให้ได้ก่อนทั้งในส่วนของข้าราชต่อข้าราชการ รัฐต่อข้าราชการ ประชาชนต่อข้าราชการ ประชาชนต่อรัฐ เพราะตรงนี้คือภัยร้ายแรงและเป็นบ่อเกิดของปัญหาทั้งหมด เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาต้องเริ่มจากตรงนี้ รวมถึงต้องมีการบังคับใช้กฎหมายให้ได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ประชาชนมีความสุข มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนมีการพัฒนาสมอง สติปัญญา และการเรียนรู้ เพื่อจะทำให้สังคมโดยรวมปลอดภัยทั้งหมด อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า อย่าให้ความมั่นคงเป็นบ่อเกิดที่เป็นผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศในทุกมิติ แต่จะต้องเป็นสิ่งรับประกันให้เกิดความมีเสถียรภาพทั้งการเมือง ความมั่นคง ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การค้าการลงทุน การรองรับการเปิดตลาดและความร่วมมือกับอาเซียนและประชาคมโลก เพราะฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวต้องร่วมมือกันดำเนินการตั้งแต่วันนี้ และมองภาพแบบองค์รวม เพื่อเดินหน้าประเทศไปพร้อมกัน

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำในเรื่องการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่าง กอ.รมน.กับ ศอ.บต.ว่า ให้ปฏิบัติงานร่วมกันตามโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แล้วทั้งด้านการพัฒนาและความมั่นคง โดยการทำงานต้องประสานสอดคล้องและเดินไปด้วยกันทุกเรื่องทั้งแผนงาน ทุกโครงการและงบประมาณ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเตรียมออก พ.ร.บ.งบประมาณใหม่ทั้งหมดในการกำหนดลำดับความสำคัญของงบประมาณให้ชัดเจน เช่น ขั้นตอนการจัดทำงบประมาณ กลุ่มงานทั้งงบฯฟังก์ชั่น งบฯ การดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วน งบฯ ตามยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปประเทศ งบฯ เดิมที่มีอยู่ งบฯ การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ขณะเดียวกันเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานระมัดระวังอย่าปล่อยให้มีการทุจริตเกิดขึ้น และการดำเนินการทุกอย่างต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทุกคนจะต้องรู้จักคิดวิเคราะห์อย่างเป็นกระบวนการ รวมทั้งต้องมีการแก้ไขปัญหาในเรื่องของการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งระบบโดยมีการวางแผนการดำเนินการให้ชัดเจนสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี และแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนควรสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อให้ประเทศชาติเกิดความสงบสุข ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้เปิดช่องทางการบริการรูปแบบใหม่ของภาครัฐที่จะอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการที่จะเข้าถึงข้อมูลและบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐของหน่วยงานต่าง ๆ แบบออนไลน์ผ่านช่องทางอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ เช่น สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ท หรือคอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น G-news ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นกลางที่หน่วยงานภาครัฐใช้เป็นช่องทางในการให้ข้อมูลข่าวสารและบริการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ส่งตรงถึงประชาชนผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ดังกล่าว พร้อมเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจให้ประชาชนโดยเฉพาะประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวดังกล่าวของภาครัฐอย่างทั่วถึง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศในทุกมิติตามนโยบายรัฐบาลไปด้วยกัน เช่น ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การต่างประเทศ และการพัฒนาไปสู่ระบบไอซีทีให้ก้าวทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ประเทศเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

--------------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ